post

บอสตัน มาราธอน หนึ่งในหกมาราธอนใหญ่ของโลก ได้ก่อให้เกิดตำนานนักวิ่งหญิงขึ้นมาหลายคน แต่คนที่ต้องถูกจดจำมากที่สุดเพราะเป็นผู้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ต้องเป็น “แคทรีน สวิทเซอร์”

ย้อนไปในวันที่ 5 มกราคม 1947 หนูน้อยแคธี่ถือกำเนิดขึ้นในเมืองอัมเบิร์ก เยอรมนี ที่ซึ่งพ่อแม่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ให้กองทัพสหรัฐประจำฐานทัพที่ยุโรป สองปีต่อมาจึงได้เดินทางกลับมายังอเมริกา ใช้ชีวิตตามลำดับจนเข้าเรียนที่ซีราคิวส์ ยูนิเวอร์ซิตี้ในปี 1967 ซึ่งขณะนั้นบอสตัน มาราธอนเป็นการแข่งขันมาราธอนที่ฝ่ายจัดยังไม่อนุญาตให้นักวิ่งหญิงลงทำการแข่งขัน

หนึ่งปีก่อนหน้านั้น บอสตัน มาราธอนมีนักวิ่งหญิงแอบลงทำการวิ่งท่ามกลางหมู่นักกีฬาชาย เธอชื่อบ็อบบี้ กิ๊บบ์ แต่ในปี 1967 สวิทเซอร์ลงทำการแข่งขันแบบมีบิบหมายเลขติดบนตัว บิบหมายเลข 261 เกิดจากการสมัครลงวิ่งในสังกัดซีราคิวส์ แฮร์เรียส แอทเลติก คลับ หรือชมรมนักกีฬาของสถาบันที่สวิทเซอร์เรียนอยู่ในขณะนั้น การกรอกใบสมัครของเธอระบุว่าเพศเป็นกลางโดยใช้ชื่อย่อว่า K.V. Switzer นอกจากจะผ่านขั้นตอนการตรวจใบสมัครแล้ว ในการตรวจตราของวันงานที่เกิดกว่าการดูแลทั่วถึงทำให้สวิทเซอร์หลุดรอดสายตาฝ่ายจัดการแข่งขันจนกระทั่งเธอเริ่มออกวิ่ง

จ็อค เซมเปิ้ล ช่างภาพของฝ่ายจัดการแข่งขันเป็นคนที่สังเกตเห็นเธอ  เขาพยายามพุ่งตัวเข้าไปคว้าแคทรีนเพื่อจะเอาบิบออกจากตัวเธอให้ได้ ในขณะที่ปากก็ตะโกนว่า “เอานังปิศาจนั้นออกไปจากการแข่งขันของฉัน แล้วเอาเบอร์นั่นมาเดี๋ยวนี้” แต่ทอม มิลเล่อร์ นักอเมริกันฟุตบอลและนักขว้างค้อนที่ลงวิ่งมาข้างแฟนสาวของตัวเองคว้าตัวเซมเปิ้ลแล้วเหวี่ยงไปบนฟุตบาทได้

แคทรีน สวิทเซอร์วิ่งจนจบการแข่งขันของบอสตัน มาราธอนด้วยเวลา 3 ชั่วโมง 7 นาที 29 วินาที เป็นลำดับที่ 59 จากทั้งหมด และมันทำให้สมาคมนักกีฬาสมัครเล่นของอเมริกาและสมาคมนักกีฬาของบอสตันไม่พอใจ พวกเขาสั่งห้ามผู้หญิงลงแข่งขันมาราธอนทุกรายการร่วมกับนักวิ่งชาย

“ผู้หญิงจะมาวิ่งในมาราธอนไม่ได้เพราะกฏมันห้ามไว้ ถ้าไม่มีกฏสังคมมันต้องวุ่นวายแน่ ผมไม่ได้ออกกฏแต่ผมพยายามรักษามัน เราไม่มีที่ว่างในมาราธอนสำหรับคนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้วิ่ง ถ้าผู้หญิงคนนั้นเป็นลูกสาวผม ผมจะฟาดเข้าให้” วิล โคลนี่ย์ ผู้อำนวยการของบอสตัน มาราธอนในตอนนั้นกล่าวถึงเรื่องนี้

เมื่อเป็นเช่นนั้น การรณรงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ที่เท่าเทียมกันโดยสวิทเซอร์และนักวิ่งหญิงคนอื่นก็เริ่มขึ้น จนกระทั่ง 5 ปีต่อมา การแข่งขันบอสตัน มาราธอนก็ดำเนินการแก้ไขกฏให้นักกีฬาหญิงสามารถลงแข่งขันบอสตัน มาราธอนได้อย่างเป็นทางการ

“ฉันรู้ว่าถ้าฉันโดยเอาออกจากการแข่ง จะไม่มีใครเชื่อว่าผู้หญิงวิ่ง 26 ไมล์กว่าได้ ถ้าฉันออก ทุกคนจะพูดว่าก็แค่มาวิ่งโชว์ตัว ถ้าฉันเลิกวิ่ง โลกของนักกีฬาผู้หญิงจะดันถอยหลังแทนที่จะพุ่งไปข้างหน้า ถ้าเลิกฉันจะไม่มีโอกาสวิ่งบอสตันอีก จ็อค เซมเปิ้ลและคนแบบเขาก็จะชนะ ความกลัวและความอัปยศนั้นกลายเป็นพลังความโกรธของฉัน” แคทรีนเล่าถึงสิ่งที่เธอคิดในวันนั้น

ห้าสิบเอ็ดปีต่อมาที่บอสตัน มาราธอน จำนวนผู้สมัครวิ่งหญิงมีถึง 13,000 คน เทียบกับวันที่เธอเป็นนักวิ่งหญิงเพียงคนเดียวมันต่างกันราวฟ้ากับเหว

แคทรีน สวิทเซอร์ได้รับยกย่องจากนิตยสารรันเนอร์ เวิร์ลด์ให้เป็นนักวิ่งหญิงแห่งทศวรรษ (1967-1977) ในปี 2013 ที่เธอกลับไปเข้าร่วมงานวิ่งที่บอสตัน มาราธอน เธอเล่าแบบติดตลกว่าไหล่ของเธอเปียกไปหมดเพราะผู้หญิงมากมายที่เข้ามากอดและร้องไห้ด้วยความยินดี สิ่งที่แคทรีนทำได้เปลี่ยนโลกของผู้หญิง พวกเธอทำให้โลกเห็นว่าทำอะไรได้บ้าง รวมไปถึงสิ่งที่ยากอย่างการวิ่งมาราธอน