post

“ปีนี้ฉันจะเริ่มต้นวิ่งเป็นประจำ” หลายคนอาจจะบอกตัวเองอย่างนี้หรือตั้งเป้าหมายแบบนี้สำหรับปี 2019 ที่เพิ่งมาถึง และนี่คือ 9 คำแนะนำสำหรับนักวิ่งหน้าใหม่

1. หารองเท้าที่เหมาะสำหรับวิ่ง

ในการวิ่งนั้นนักวิ่งต้องมีรองเท้าที่ตอบสนองต่อลักษณะการวิ่ง ซึ่งพิจารณาควบคู่กันระหว่างลักษณะของรูปเท้าและลักษณะของการลงเท้า เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างในทั้งสองเรื่อง บางคนเท้าแบน บางคนอุ้งเท้าสูง บางคนปลายเท้ากว้าง เช่นกันกับที่บางคนเดินลงน้ำหนักที่ส้นเท้าและบางคนเดินลงน้ำหนักบนฝ่าเท้า

2. วอร์มรองเท้าใหม่

เมื่อได้รองเท้าใหม่มา นักวิ่งควรสวมใส่เป็นเวลานาน ๆ สัก 3-5 วันก่อนใช้งานในการวิ่งจริง การสวมใส่ในชีวิตประจำวันจะช่วยปรับสภาพเท้าให้เคยชินกับรองเท้าใหม่ และช่วยปรับรูปของรองเท้าให้พร้อมในการใช้งานวิ่งระยะเวลานาน ๆ

3. กำหนดตารางวิ่ง

ในเบื้องต้นไม่ควรฝืนทำการวิ่งหักโหมหรือมากเกินไป เนื่องจากร่างกายที่ยังปรับสภาพต่อการออกกำลังกายไม่ได้จะส่งผลเสีย ให้เริ่มต้นวิ่งเป็นระยะเวลาไม่นานนัก จากนั้นเพิ่มขึ้นราว 10% ในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป วิธีการนี้จะทำให้ร่ายกายรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า

4. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

การยืดร่างกายก่อนการวิ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ในส่วนนี้ท่ายืดที่ถูกต้องสำคัญกว่าจำนวนครั้งในการวอร์มร่างกายแต่ละเซต นักกีฬาส่วนใหญ่จะได้รับการแนะนำว่าไม่ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อท่าใดท่าหนึ่งค้างไว้นานเกิน 15 วินาทีเพราะมันกลายเป็นการสร้างความเครียดให้กล้ามเนื้อแทน ให้นึกว่ากล้ามเนื้อเหมือนยางยืดแช่แข็ง การทำให้ยางยืดตัวดีคือการค่อย ๆ นวดคลายไม่ใช่การออกแรงดึงหนัก ๆ

5. กำหนดแผนที่ในการวิ่ง

นักวิ่งหลายคนเลือกเส้นทางที่วิ่งเริ่มต้นจากที่บ้าน และหลายคนเริ่มต้นวิ่งที่สวนสาธารณะ พวกเขาจำเป็นต้องศึกษาเส้นทางเพื่อให้รู้ว่าเส้นทางที่ไปนั้นมีทางราบ ทางเนิน หรือผิวถนนเป็นอย่างไร ปริมาณรถหรือสัตว์เลี้ยงของเพื่อนบ้าน ซึ่งช่วยให้นักวิ่งรู้ตัวล่วงหน้าและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดโดยไม่รู้ตัว

6. เลือกความเร็วที่เหมาะสม

การวิ่งต้องเลือกระดับความเร็วในการวิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง ระดับที่เหมาะคือระดับที่สามารถวิ่งไปและคุยไปด้วยได้โดยไม่หอบหนัก ๆ หรือหายใจไม่ทัน ที่สำคัญการเลือกระดับความเร็วในการวิ่งสูงไปจะทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บ และมีผลให้หมดแรงจูงใจง่ายขึ้น

7. ค่อย ๆ ลดอัตราเต้นของหัวใจ

การวิ่งจนเหนื่อยมากไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง นักวิ่งต้องวิ่งในระดับที่พอหยุดวิ่งแล้วไม่รู้สึกว่าหัวใจเต้นแรงจนเกินไป การที่อัตราการเต้นของหัวใจสามารถลดระดับกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้เร็วช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตไม่ตกอยู่ในสภาพอันตราย และหัวใจไม่ทำงานหนักเกินไป

8. ยืดเหยียดคลายกล้ามเนื้อหลังวิ่งเสมอ

การคลายกล้ามเนื้อหลังวิ่งสำคัญพอ ๆ กับก่อนวิ่ง โดยหลักการทั่วไปแล้วอะไรที่เคยทำก่อนวิ่งก็สามารถทำได้หลังการวิ่ง

9. ดื่มน้ำให้มากพอ

จดจำว่าการสูญเสียน้ำมากเกินไประหว่างการวิ่งมีผลกระทบมากกว่าที่คิด ดังนั้นการดื่มน้ำที่มากพอจะช่วยรักษาสมดุลภายในร่างกายให้ไม่ลดต่ำมากจนเกิดอันตรายได้