post

“มาราธอน” กีฬาวิ่งระยะไกล เสน่ห์อย่างหนึ่งในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

กีฬาวิ่งเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยทั้งพลังกายและพลังใจค่อนข้างมากในการเล่น เนื่องจากเป็นกีฬาที่ใช้สองเท้าวิ่งก้าวออกไป ยิ่งเป็นการออกกำลังกายโดยตัวคนเดียวแล้ว การมีวินัย และใช้พลังใจที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะกีฬาประเภทนี้สามารถหยุดเล่นได้ทุกขณะหากหมดใจ หรือรู้สึกเหนื่อยมาก ๆ ยิ่งเป็นระยะทางวิ่งที่ไกล ๆ อย่างเช่นการวิ่ง “มาราธอน” ด้วยแล้ว หากผู้วิ่งมีจิตใจไม่เข้มแข็งหรือซ้อมมาไม่มากเพียงพอ ร่างกายก็อาจพร้อมที่จะยอมแพ้และล้มเลิกไปได้ง่าย ๆ ดังนั้นกีฬาประเภทนี้จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการใช้ฝึกความมีวินัยของตนเอง โดยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้นได้บรรจุกีฬาประเภทนี้เข้าไว้เป็นหนึ่งในรายการแข่งขันด้วย  ดังนั้นเราไปดูกันดีกว่าว่าเจ้ากีฬามาราธอนนี้ได้มาโลดแล่นอยู่ในรายการแข่งขันระดับโลกนี้ได้อย่างไร

การโลดแล่นของกีฬาวิ่งมาราธอนในการแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิก

การแข่งขันกีฬาวิ่งระยะไกลอย่าง “มาราธอน” นั้นได้ถูกบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในรายการแข่งขันของการแข่งขันกีฬาระดับโลกของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกครั้งแรกในปี ค.ศ.1896 ซึ่งผู้ริเริ่ม ก็คือ นายบารอน ปิแอร์ เดอ คูแบร์เต็ง โดยได้มีการจัดการแข่งขัน ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งกติกาการจัดการแข่งขันในครั้งนี้กำหนดให้ผู้เข้าแข่งขันที่วิ่งได้ครบระยะทาง 40 กิโลเมตร (24.85 ไมล์) ก่อนเป็นผู้ชนะ โดยระยะดังกล่าวนี้เป็นระยะทางการวิ่งที่อ้างอิงมาจากตำนานของนายทหารชาวกรีกที่มีนามว่า ฟีร์ดิปปิเดซ (Pheidippides) ผู้ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กีฬาการวิ่งมาราธอนถือกำเนิดขึ้น ส่วนผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะการแข่งขันกีฬาวิ่งมาราธอนในโอลิมปิกคนแรกของโลก ก็คือ สปิริดอน หลุยส์ (Spyridon Louis) ซึ่งมีอาชีพเป็นพนักงานส่งไปรษณีย์ โดยหลุยส์สามารถวิ่งในระยะทาง 40 กิโลเมตร โดยใช้เวลาไปทั้งสิ้น 2.58.50 ชั่วโมง

รู้หรือไม่ระยะการวิ่งมาราธอนสากลในปัจจุบันคือระยะทางเท่าใด

ต่อมาในปี ค.ศ.1908 ได้มีการจัดการแข่งขันมาราธอนภายใต้รายการแข่งขันโอลิมปิกขึ้นอีกครั้งที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้น ระยะทางที่จะใช้ก็ควรจะเป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร เช่นเดิม แต่เนื่องจากเพื่อให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ผู้ชื่นชอบการชมและเชียร์การแข่งขันกีฬาเป็นอย่างมาก สามารถมองเห็นนักกีฬาที่สามารถเข้าสู่เส้นเป็นผู้ชนะในรายการแข่งขันนี้ได้อย่างชัดเจน ระยะทางการแข่งขันวิ่งมาราธอนจึงถูกเปลี่ยนเป็น 42.195 กิโลเมตร (26.22 ไมล์)โดยเส้นทางการวิ่งในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นของการวิ่งอยู่ที่พระราชวังวินเซอร์ ไปสิ้นสุดที่ White City Stadium หน้าพระพักตร์ของพระองค์นั่นเอง และต่อมาในปี ค.ศ.1921 ผ่านไปเป็นระยะเวลา 13 ปี นับจากการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่ลอนดอน ทางสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (IAAF, International Association of Athletics Federations) ก็ได้ออกข้อกำหนดอย่างเป็นทางการให้ระยะทางการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับสากล อยู่ที่ระยะทาง 42.195 กิโลเมตรนั่นเอง

และนี่คือที่มาที่ไปของการโลดแล่นอยู่ของรายการแข่งขันวิ่งมาราธอนในการจัดการแข่งขันโอลิมปิก ทำให้ต่อมาเมื่อมีการจัดการแข่งขันรายการวิ่งมาราธอนโดยทั่วไปจึงยึดเอาระยะทางดังกล่าวเป็นระยะทางที่ใช้ในการจัดการแข่งขัน สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่ไม่ทราบประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการจัดการแข่งขันมาราธอนระดับโลกอย่างในโอลิมปิก ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความรู้และสาระเพิ่มเติมไว้ใช้สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนกันกับเพื่อน ๆ คอนักวิ่งต่อไป