post

Altra Paradigm 4.0 ที่สุดความหนาเพื่อซัพพอร์ตสายวิ่ง neutral

ค่ายรองเท้าวิ่ง Altra อาจจะไม่ดังเท่ากับคู่แข่งร่วมวงการแต่รองเท้าของ Altra เองก็ได้รับการพัฒนาให้ลงตลาดได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร ซึ่งตัวท็อปของค่ายนี้อย่าง Paradigm ก็ได้รับการจูนเครื่องใหม่เพื่อตอบโจทย์นักวิ่งได้อย่างสวยงาม

Altra Paradigm 4.0 อ่านว่า พา-รา-ดาม เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่น Paradigm 3.0 ที่เป็นแบบ High Drop มันถูกเลือกเซ็ตซีโร่ให้มีค่าดร็อปของรองเท้าอยู่ที่ 0 กลายเป็นว่ารองเท้ารุ่นนี้ถูกนำกลับสู่ความเป็นรองเท้าสำหรับนักวิ่งสาย Neutral เต็มตัว แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ได้รับการเพิ่มให้มีพื้นรองเท้าหนามากยิ่งขึ้นจนไปหยุดอยู่ที่ 30 mm. ซึ่งธรรมดารองเท้าสายค่า Drop ต่ำจะไม่หนามาก แต่ Paradigm 4.0 ที่ทำตัวเองให้กลายเป็นรองเท้าของคนปกติเลือกความรู้สึกเด้งดึ๋งไว้ตอบโจทย์นักวิ่งสายนี้ที่กังวลว่าวิ่งแล้วไม่มีอะไรซัพพอร์ตให้ความนุ่มเท้า

แต่เพื่อให้ Paradigm 4.0 ยังรักษาคุณสมบัติของรองเท้าสาย Stability Shoes ทางค่าย Altra ก็จัดการเสริมสมดุลของรองเท้าเพื่อรับรองการวิ่งของคนเท้าแบนรุนแรงหรือเท้าล้มด้วยสองตัวช่วยทั้งเทคโนโลยี GuideRail และ Stabilipod ที่ทำให้แกนของรองเท้ามีความมั่นคงเวลาวิ่งมากขึ้น

ด้านการระบายอากาศของรองเท้าก็ทำออกมาดี ด้วยการใช้ผ้าแบบมีรูห่าง ทำให้ระบายอากาศและความร้อนได้เร็ว

หลังจาก Runner’s World ให้นักเทสต์ทำการทดสอบผลปรากฏว่า Paradigm 4.0 เก็บคะแนนความชอบใจเรื่องรับแรงกระแทกส้นเท้าไป 8.4/10 ส่วนคะแนนซัพพอร์ตฝ่าเท้าเกือบเต็ม 10 นับว่าเป็นรุ่นเดียวและค่ายเดียวของการทำ recommended ปี 2019 ที่ได้คะแนนใกล้เคียง 10 ที่สุดแล้ว

ผลการจำหน่ายในท้องตลาด Altra Paradigm 4.0 ถูกจำหน่ายไปด้วยโวลลุ่มที่น่าสนใจกล่าวคือมันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้จะถูกติติงว่ามันดูเทอะทะไปบ้าง และค่อนข้างหนักสักนิดเมื่อเริ่มต้นวิ่งช่วง 4-6 กิโลเมตรแรก แต่เมื่อใช้วิ่งเป็นระยะทางสัก 10 กิโลเมตรหรือไกลกว่านั้นนักวิ่งจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันเบาแรงมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักที่รู้สึกในทีแรก โดยเฉพาะในเรื่องของการรับแรงกระแทกและคืนแรงในระหว่างวิ่ง หรือแม้แต่การใช้สวมใส่เดินทั้งวันผลตอบรับของมันก็กลับมาเป็นเชิงบวก

Altra Paradigm 4.0 ออกจำหน่ายในราคา 4,700 กว่าบาทในเมืองไทย ถือเป็นราคาที่น่าจับต้องมาก โดยหากมองในแง่ที่ว่ามันสามารถใส่ในชีวิตประจำวันได้อย่างสบายเท้าด้วย Paradigm 4.0 ก็เพิ่มฟังก์ชันสวมใส่เดินเที่ยวเล่นทั้งวันได้อีกตัวเลือกหนึ่งนอกเหนือไปจากใส่วิ่งระยะทางกลางๆ ถึงไกลๆ ซึ่งหลังใช้งานบางทีผู้สวมอาจจะต้องประหลาดใจกับประสิทธิภาพของมันอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

post

Adidas Ultra Boost 19 เมื่อความเร็วสำคัญกว่าแฟชั่น

สำหรับนักวิ่งแล้ว หนึ่งในยี่ห้อรองเท้าที่พวกเขาให้การยอมรับและเลือกใช้มากเบอร์ต้นๆ ก็คืออาดิดาส ซึ่งหนึ่งในรุ่นที่ถูกผลิตออกมาและเป็นที่นิยมในกลุ่มนักวิ่งขาแรงก็คือ Boost Series ที่มี Ultra Boost เป็นตัวชูโรง และ Runner’s World ก็เลือกที่จะยก Ultra Boost 19 เป็นรองเท้าที่ควรค่าแก่การเป็นเจ้าของในปี 2019

เดิมทีความนิยมใน Ultra Boost Series เองก็อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว แถมการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงรุ่นก่อนหน้าที่รุ่น 19 จะออกวางจำหน่ายก็เป็นส่วนผสมที่ดีระหว่างคุณภาพรองเท้าที่เหมาะสำหรับการวิ่ง และเรื่องของแฟชั่นวงการรองเท้า ทว่าเมื่อเริ่มลงมือพัฒนารุ่น Ultra Boost 19 ขึ้นมาจริงๆ ทีมงานของอาดิดาสเลือกที่จะขอความเห็นจากนักวิ่งมากกว่า 1,000 คนเพื่อสร้างช้อยส์ที่เป็นเป้าหมายของรุ่นที่จะพัฒนา แน่นอนว่าเมื่อเลือกให้นักวิ่งช่วยคิดมันจึงกลายเป็นรองเท้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อการวิ่งมากกว่าความสวยงาม

นักวิ่งจากทั่วทุกมุมโลกให้ความช่วยเหลือและออกความเห็นจน Ultra Boost 19 เป็นรองเท้าที่เหลือโครงสร้างหลักเพียง 4 ชิ้นเทียบกับรุ่น 18 ซึ่งมีถึง 17 ชิ้นแล้วมันจึงเป็นรองเท้าที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างมาก โดยเฉพาะอัปเปอร์ที่เป็นผ้าถักชิ้นเดียวแบบไร้รอยต่อคลุมปลายเท้าไปจนถึงข้อเท้า ได้อารมณ์เหมือนสวมถุงเท้าอย่างไรอย่างนั้น

เมื่อชิ้นส่วนของรองเท้าถูกเอาออกไปจนเหลือเท่าที่จำเป็น ตัวโฟมของ Ultra Boost 19 จึงสามารถเพิ่มความหนาขึ้นมาได้อีก 20% แต่มีน้ำหนักรวมท้ายที่สุดเท่ากับรุ่น 18 เท่านั้น ขณะที่ประสิทธิภาพในการคืนแรงเพิ่มขึ้นมาอย่างมาก กลายเป็นรองเท้าที่นุ่มและรับน้ำหนักได้ดี

 นักวิ่งจำนวนหนึ่งที่ได้ทดสอบการใช้งานของ Ultra Boost 19 ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันหนึ่งเรื่องนั่นคือการที่มันขึ้นรูปอัปเปอร์ด้วยผ้า Primeknit 360 ที่ให้อารมณ์แบบสวมถุงเท้า แล้วมีเคสสำหรับร้อยเชือกยึดติดกับมิดโซลเอาไว้ ทำให้รองเท้ารุ่นนี้เหมือนไม่มีขอบรองเท้าที่ต้องใช้เวลาสักระยะหลังสวมใส่ให้เกิดการยึดขยายเข้ารูปเท้า พูดง่ายๆ ว่าเป็นรองเท้าที่ใส่แล้ววิ่งได้เลย เพราะธรรมดามักพูดกันว่ารองเท้าใหม่ควรใส่สักระยะให้มันขยายเข้ารูปเท้าเสียก่อน

ข้อโดนตำหนิของ Ultra Boost 19 ที่นักวิ่งต่างเทใจให้ในเรื่องที่มันตอบโจทย์ความต้องการของนักวิ่งไว้เกือบหมด ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องที่อาดิดาสน่าจะรู้อยู่แล้วคือ “มันไม่สวย” เลย นั่นเพราะอย่างที่เกริ่นว่าอาดิดาสเลือกถามความเห็นนักวิ่งเพื่อสร้างรองเท้ารุ่นที่นักวิ่งจะรัก เมื่อเป็นเช่นนี้ดูเหมือนมันจะไม่ถูกใจสายแฟชั่นเท่าไหร่นัก

ด้วยความที่เป็นรองเท้าวิ่งที่เหมาะกับการวิ่งทั้งฮาล์ฟและมาราธอน ทำให้ราคาของ Ultra Boost 19 ที่วางจำหน่ายในราคา 7,300 บาทเรียกได้ว่าไม่ใช่น้อยๆ แต่ถ้าจะเลือกรองเท้าที่ใช้วิ่งได้เป็นอย่างดีแล้วล่ะก็ Ultra Boost 19 น่าจะตอบโจทย์ได้ว่ามันเป็นรองเท้าที่ใช่

post

เตรียมตัวอย่างไรก่อนก้าวแรกลงสนามมาราธอน

การวิ่งมาราธอนที่ต้องเอาชนะเส้นทาง 42.195 กิโลเมตรไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถือเป็นกิจกรรมประเภท Endurance Sports ที่ต้องใช้ความทนทานและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด จังหวะการหายใจ โดยระยะทางและรูปแบบการแข่งขันที่แตกต่างจากการวิ่งทั่วไป อาจจะทำให้ร่างกายเผชิญกับอันตรายได้ ดังนั้นการเตรียมตัวเพื่อลงวิ่งมาราธอนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับนักวิ่งที่กำลังจะลงวิ่งมาราธอนครั้งแรก

มีคำกล่าวว่า “มาราธอนแรกมีครั้งเดียว” ดังนั้นทุกคนต่างคาดหวังว่าจะสามารถลงวิ่งมาราธอนและจบการวิ่งได้โดยปลอดภัยและทำเวลาได้ตามที่เกมการแข่งขันกำหนด หรือพูดง่ายๆ ว่าวิ่งจบโดยไม่โดนคัท ออฟ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่านักวิ่งเตรียมตัวเองดีแค่ไหนด้วย ซึ่งต่อไปนี้คือข้อแนะนำสำหรับมือใหม่ที่เตรียมลงวิ่งมาราธอนครั้งแรก

  1. เลือกรายการวิ่งที่มีมาตรฐานการจัดงาน เพราะงานที่จัดได้อย่างมีมาตรฐานส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เน้นความปลอดภัยสูง ทั้งเรื่องเส้นทาง การดูแลการจราจร การปฐมพยาบาล
  2. เลือกเวลาในการวิ่งที่เหมาะสม นักวิ่งที่ลงวิ่งมาราธอนครั้งแรกจะเผชิญกับการวิ่งที่นานกว่าปกติ หากลงวิ่งท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงในช่วงเวลาสาย บวกกับเป็นสนามที่มีลมพัดน้อย หรือมีความชื้นสัมพัทธ์สูง จะทำให้ร่างกายได้รับอันตรายได้ง่าย อุณหภูมิที่ไม่แนะนำให้วิ่งคือสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส
  3. สร้างความเคยชินกับรองเท้าวิ่งและเลือกการผูกเชือกที่เหมาะสม นักวิ่งหลายคนชอบลองรองเท้าใหม่ด้วยการใส่ลงวิ่งระยะทางไกลๆ ซึ่งรองเท้าที่ยังไม่ถูกใส่ให้เคยชินอาจจะกัดเท้าได้ รวมไปถึงโครงสร้างของเท้าที่ไม่เหมือนกัน เช่นบางคนหลังเท้าสูง การผูกเชือกรองเท้าแบบไขว้รัดหน้าอาจจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างวิ่งได้ จึงควรหาวิธีผูกเชือกรองเท้าที่เหมาะสมกับตัวเองด้วยเช่นกัน
  4. เตรียมสภาพร่างกายก่อนวิ่ง เป็นที่แน่นอนว่าในคืนก่อนวิ่งร่างกายควรได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่ก็มีนักวิ่งหน้าใหม่หลายคนที่ตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ ซึ่งอาจจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียเร็วกว่าปกติ ดังนั้นควรฝึกนอนให้ตัวเองนอนหลับง่ายๆ และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงก่อนวิ่ง 24 ชั่วโมงด้วย
  5. การวอร์มอัพและเหยียดกล้ามเนื้อต้องมากพอ เพื่อให้กล้ามเนื้อต่างๆ พร้อมสำหรับการทำงานระยะเวลานานๆ และทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัวในการรับมือกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น
  6. การทานอาหารก่อนวิ่ง ต้องทานล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง โดยในการวิ่งที่ใช้เวลาเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป นักวิ่งควรได้รับพลังงานจำพวกคาร์โบไฮเดรต และไม่ควรพลาดที่จะเติมพลังงานระหว่างวิ่งด้วย
  7. การดื่มน้ำที่เพียงพอ ร่างกายที่ขาดน้ำจะส่งผลกระทบต่อนักวิ่งอย่างมาก แต่ก็ไม่ควรดื่มมากจนเกินไปในแต่ละครั้ง โดยปกติในสนามแข่งขันมาราธอนจะมีการให้บริการน้ำดื่มและเกลือแร่ทุกๆ 2 กิโลเมตร หรือในระยะเวลาวิ่งระหว่าง 15-20 นาที ดังนั้นนักวิ่งต้องประเมินตัวเองว่าระหว่างแต่ละจุดให้น้ำนั้นจะใช้เวลาได้พอดี ไม่เกิดการขาดน้ำก่อน

                        การลงแข่งขันมาราธอนถือเป็นการต่อสู้กับหลายอย่าง ดังนั้นการเตรียมตัวที่ดีและการรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็นในการเตรียมตัวและขณะวิ่งจึงเป็นเรื่องที่นักวิ่งต้องให้ความสำคัญ ซึ่งทั้งการซ้อมและการเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้นักวิ่งผ่านมาราธอนแรกได้อย่างสวยงามแน่นอน

post

Larry Macon ยอดนักวิ่งมาราธอน 50 รัฐของอเมริกา

ในการวิ่งมาราธอนให้ทั่วอเมริกาต้องลงสนามอย่างน้อย 50 สนามจาก 50 รัฐ นั่นจะทำให้ได้รับการยกย่องและได้รับประกาศนียบัตรผู้พิชิตการวิ่งมาราธอนอเมริกาที่จัดโดยองค์กร 50 State Marathon Club

แน่นอนว่าการวิ่งพิชิตทั่วอเมริกาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะตั้งแต่องค์กรนี้เก็บบันทึกสถิติโดยนับย้อนไปตั้งแต่ปี 1983 ที่เล่ากันว่า Wally Herman ทำสำเร็จคนแรกมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขามีรายชื่อผู้วิ่งมาราธอนครบ 50 รัฐสำเร็จเพียง 1,490 รายเท่านั้น การวิ่งให้ครบ 50 รัฐอาจจะไม่ใช่เรื่องยากเกินจะทำ แต่การพิชิตครบ 50 รัฐซ้ำแล้วซ้ำอีกนี่สิที่น่านับถือใจนักวิ่งคนนั้นจริงๆ

วันที่ 28 กันยายน 2003 ที่ Quad Cities เมือง Moline รัฐอิลลินอยส์ Larry Macon สามารถวิ่งครบทั้ง 50 รัฐทั่วอเมริการวมกับวอชิงตัน ดีซีได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ถ้าเป็นบางคนก็อาจจะพอใจเพียงเท่านั้น แต่ชายคนนี้ไม่ได้ต้องการหยุดเท่านี้ เขายังคงมีความกระหายที่จะวิ่งเพิ่มขึ้น

Larry มักจะเล่าเรื่องที่ฟังดูตลก โดยย้อนหลังไปปี 1996 ตอนนั้น Larry Macon ที่เพิ่งได้เป็นนักกฎหมายใหม่หมาดๆ เขาทำงานหนักแม้กระทั่งสุดสัปดาห์ยังทำงานมากถึง 20 ชั่วโมง ในขณะที่คนอื่นอาจจะไปเล่นกอล์ฟ ว่ายน้ำหรือปั่นจักรยานในวันสุดสัปดาห์ ตัวเขาเองยังคงทำงาน ขณะที่นั่งอยู่ในร้านกาแฟในซานอันโตนิโอ เขาชำเลืองมองหนังสือพิมพ์แล้วเห็นโฆษณางานวิ่งมาราธอนซึ่งจะจัดในอีก 3 สัปดาห์ให้หลัง แล้วเขาก็ตัดสินใจจะลงวิ่งดู

หลังจากวิ่งมาราธอนครบ 50 รัฐได้เป็นครั้งแรก Larry ก็ติดใจการวิ่งมาราธอนหนักขึ้นไปอีก เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนของปี 2004 เขาก็พิชิต 50 รัฐได้เป็นรอบที่สอง จากนั้นก็พิชิต 50 รัฐได้ต่อเนื่องกันทุกปี แถมบางปีเขายังทำสำเร็จถึง 2 รอบด้วย ปัจจุบัน Larry เป็นนักวิ่งอันดับหนึ่งของการพิชิต 50 รัฐด้วยการทำไปทั้งหมด 16 ครั้ง

ความบ้าวิ่งของ Larry ทำให้ตัวเลขสนามที่เขาลงวิ่งมีเกิน 100 สนามในทุกๆ ปี โดยเฉพาะในปี 2013 ที่เขาถูกบันทึกว่าเข้าร่วมวิ่งมาราธอนถึง 255 รายการ แม้จะถูกนับเป็นสถิติออฟฟิเชียลแบบทางการแค่ 239 สนาม แต่นั่นก็มากพอที่เขาจะเป็นเจ้าของการลงแข่งขันมาราธอนในหนึ่งปีไว้มากที่สุด

สำหรับคนทั่วไปแล้ว การวิ่งมาราธอนหนึ่งรายการก็ดูน่าเหนื่อยแล้ว แต่คนบ้าวิ่งอย่าง Larry ทำอะไรมากกว่านั้น  เพราะในปี 2013 ระหว่างวันศุกร์ที่ 16 ถึงวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคมแค่ 3 วัน Larry ลงวิ่งมาราธอนจบถึง 6 สนาม นั่นทำให้เกิดความสงสัยที่มีต่อการวิ่งมาราธอนของ Larry Macon ว่าเขาทำได้อย่างไรพาให้นักข่าวต้องลงไปสืบหาความเป็นไปได้ว่าทำไม Larry สามารถวิ่งในรายการที่ออกสตาร์ทพร้อมกันด้วยซ้ำได้ และได้คำตอบว่าเขาได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษให้ไม่ต้องวิ่งตามเวลาของการแข่งขัน บางสนามได้วิ่งก่อนและบางสนามได้วิ่งตามหลังนั่นเอง ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถคลายข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องของบางช่วงเวลาที่มันดูไม่ลงตัว แต่ก็ยังคงไม่สามารถหาคำตอบได้ ดังนั้นสถิติของเวิลด์ เรคคอร์ดก็ยังคงถูกระบุเป็นชื่อของ Larry Macon ไว้

ไม่ว่าการวิ่งมาราธอนของ Larry Macon จะมีข้อมูลจริงเท็จมากแค่ไหน แต่ด้วยการที่เขาสามารถพิชิตการวิ่งมาราธอน 50 รัฐซ้ำๆ และครองอันดับนักวิ่งมาราธอนเบอร์หนึ่งด้านจำนวนลงวิ่งอยู่ในตอนนี้ มันก็ทำให้เขาเป็นบุคคลที่น่าเหลือเชื่อจริงๆ

post

50 State Marathon Finisher ความภาคภูมิใจของนักวิ่งผู้พิชิตทั่วอเมริกา

รางวัลที่ยิ่งใหญ่ในการวิ่งมาราธอนของโลกคือการพิชิตเมเจอร์ทั้ง 6 และเป็นผู้ครอบครองเหรียญ Six Stars Finisher แต่หากเป็นนักวิ่งมาราธอนชาวอเมริกันแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ใครทำสำเร็จจะได้รับการยกย่องอย่างมากไม่แพ้กัน นั่นคือการวิ่งพิชิตรายการมาราธอนที่จัดขึ้นในประเทศครบทุกรัฐ

แผ่นดินอเมริกาที่กว้างใหญ่ประกอบขึ้นด้วยรัฐทั้ง 50 รัฐ แต่ละรัฐต่างก็มีชมรมวิ่งของตัวเอง รวมไปถึงในมหาวิทยาลัยก็มีชมรมวิ่งมาราธอนอย่างกว้างขวาง ตลอดจนก็มีการจัดงานวิ่งทั้งระยะสั้นและระยะไกลเป็นประจำ ทำให้อเมริกาเป็นประเทศที่มีงานวิ่งอย่างมากมาย จนเกิดเป็นความท้าทายสำหรับนักวิ่งที่สามารถลงแข่งขันมาราธอนครบทุกรัฐ ซึ่งคนที่จะผ่านเงื่อนไข 2 ข้อแต่ยากสุดๆ ที่ว่าวิ่งมาราธอนครบทั้ง 50 รัฐอย่างน้อยรัฐละ 1 ครั้งและต้องทำเวลา Sub4 หรือใช้เวลาน้อยกว่า 4 ชั่วโมงเท่านั้น

ผู้ที่พิชิตชาลเลนจ์สุดหินนี้ได้จะได้รับการบรรจุชื่อเข้าเป็นสมาชิกของ 50 States Marathon Club พร้อมกับได้รับโล่รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ แต่ว่าตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรดังกล่าวขึ้นในปี 2001 มีนักวิ่งที่ประสบความสำเร็จจากการพิชิตมาราธอนครบ 50 รัฐรวม 1,490 ราย (ยังได้รับการยืนยันไม่ครบ) โดยนักวิ่งอายุน้อยที่สุดที่ทำสำเร็จเป็นเพียงเด็กหนุ่มอายุ 17 ที่เริ่มวิ่งได้ 3 ปี แต่ลงสนามไปถึง 367 สนามในตอนนั้น ขณะที่นักวิ่งหญิงอายุ 20 ปีรายหนึ่งสามารถพิชิตมาราธอนครบ 50 รัฐโดยการลงวิ่งมาราธอนไม่ซ้ำรัฐตลอด 50 รายการ

อันที่จริงแล้วการวิ่งพิชิต 50 รัฐเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1983 โดยคนแรกที่ทำสำเร็จคือปู่ Wally Herman จากออนตาริโอ้ แคนาดา แต่เป็นที่รับรู้กับเพียงในกลุ่มวิ่งเล็กๆ ซึ่งกลุ่มนี้เองที่เป็นผู้ริเริ่มรวมตัวสร้างชมรมนักวิ่งพิชิต 50 รัฐขึ้น แต่กว่าจะสำเร็จลงตัวก็ต้องรอกันเกือบ 20 ปีทีเดียว

รายการวิ่งมาราธอนพิชิต 50 รัฐได้รวมเอา 3 รายการในประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของ 6 เมเจอร์หลักเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะบอสตัน มาราธอนของรัฐแมสซาชูเซตส์, ชิคาโก มาราธอนของอิลลินอยส์และนิวยอร์ก มาราธอนของรัฐนิวยอร์ก แต่เนื่องจากช่วงแรกๆ หลายรัฐยังไม่มีการจัดวิ่งมาราธอนอย่างเป็นทางการ ทางองค์กรก็เลยไปเป็นผู้ดำเนินการให้เพื่อให้สามารถเกิดการวิ่งพิชิต 50 รัฐได้ เนื่องจากเป็นการยากไม่น้อยที่จะสามารถวิ่งครบ 50 รัฐได้ง่ายๆ ทางสมาคมที่จัดรางวัลนี้จึงมีรางวัลรายทางให้ด้วย โดยผู้ที่ผ่านการลงแข่ง 10 มาราธอนขึ้นไปสามารถสมัครเป็นสมาชิกของชมรมได้ ในช่วงเวลาหลังจากนั้นก็มีการจัดตั้งองค์กร 50 States Half Marathon Club ขึ้นมาบ้าง

ปัจจุบัน 50 States Marathon Club มีสมาชิกนักวิ่งทั้งชาวอเมริกันและต่างชาติรวม 4,613 คน สะสมสถิติงานวิ่งมาราธอนรวมกันไปเกิน 3 แสนรายการ พร้อมทั้งขยายความสัมพันธ์ไปทั่วทั้งโลก โดยเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการวิ่งพิชิตประเทศแคนาดา ประเทศออสเตรเลีย และพิชิตทั้ง 7 ทวีปตามมา

เรื่องราวของนักวิ่งที่พิชิต 50 รัฐของอเมริกากลายเป็นแรงบันดาลใจผู้คนจำนวนมาก ในวันที่โซเชียล กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารชั้นดี นักวิ่งที่ตั้งเป้าพิชิต 50 รัฐจำนวนไม่น้อยได้บันทึกเรื่องราวความยินดีและความเหนื่อยยากของพวกเขาลงบนสื่อที่ถูกนำเสนอไปทั่วโลก

post

Abbott World Marathon Major Finisher เหรียญพิเศษที่มีไว้เพื่อนักวิ่งมาราธอน

ในวงการนักวิ่งนั้น การวิ่งจบรายการมาราธอนถือเป็นความภาคภูมิใจสำหรับนักวิ่งแต่ละคน ซึ่งโดยปกติแล้วนักวิ่งที่จบการแข่งขันมาราธอนจะได้รับเหรียญที่ระลึกเพื่อแสดงความนับถือซึ่งเรียกว่าเหรียญ Finisher แต่ก็จะมีบางเหรียญที่ถือเป็นเหรียญพิเศษสำหรับนักวิ่งที่วิ่งสำเร็จเงื่อนไขบางอย่างเท่านั้น

บนโลกใบนี้ก็มีรายการมาราธอนที่เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวางเรียกว่าเป็น World Marathon Major จำนวน 6 สนามด้วยกันประกอบด้วย โตเกียว บอสตัน ลอนดอน เบอร์ลิน ชิคาโกและนิวยอร์ก ซึ่งหากนักวิ่งคนไหนได้ลงวิ่งในรายการเหล่านี้ถือได้ว่าผ่านสนามวิ่งที่ยิ่งใหญ่สุดๆ แต่ก็มีบางคนที่ประสบความสำเร็จในการได้เข้าร่วมการแข่งขันจนครบ ทำให้ทาง Abbott บริษัทเอกชนด้านเภสัชกรรมและการผลิตยาเล็งเห็นความพิเศษของผู้ที่วิ่งสำเร็จรายการสำคัญทั้ง 6 ได้ จึงได้จัดทำเหรียญรางวัลพิเศษขึ้นมา

ปี 2006 เป็นปีแรกที่เหรียญ Abbott World Marathon Major Finisher หรือ 6 Stars Finisher ถูกจัดทำขึ้น และกลายเป็นเป้าหมายล้ำค่าของนักวิ่งมาราธอนจากทั่วโลก เนื่องจากมหกรรมวิ่งทั้ง 6 สนามดังกล่าวเริ่มไม่ใช่เรื่องง่ายในการได้เข้าร่วม บางสนามรับคนได้หลักหมื่นขณะที่ความต้องการเข้าร่วมจากทั่วโลกปีละหลายแสนคน และมีอย่างน้อย 4 สนามที่ต้องมีสถิติเวลาที่ดีพอสำหรับทำการสมัคร พร้อมทั้งต้องรอลุ้นการจับลอตโต้เข้าร่วมแข่งขันด้วย

นับตั้งแต่ถือกำเนิดรางวัล Abbott WMM ขึ้นมาจนถึงรายการบอสตัน มาราธอนล่าสุด มีนักวิ่งที่เข้าเส้นชัยครบทั้ง 6 สนามรวมกันเพียง 4,000 กว่ารายเท่านั้น โดยนักวิ่งชาวไทยที่สามารถวิ่งครบทั้ง 6 สนามปัจจุบันมีเพียง 3 ราย รายล่าสุดและที่ใช้เวลาน้อยที่สุดคือนฤพนธ์ ประธานทิพย์ นักวิ่งชั้นนำของไทยที่ใช้เวลาถึง 7 ปีจึงคว้าเหรียญนี้มาได้หลังจบรายการชิคาโก มาราธอนเมื่อตุลาคมปี 2018

ลักษณะของเหรียญ Abbott WMM หรือที่เรียกเล่นๆ ว่าเหรียญพอนเดอริง เนื่องจากมีรูปร่างเป็นเหรียญกลม 6 เหรียญที่สลักรูปสถานที่แข่งขันทั้ง 6 เมเจอร์ใหญ่วางเรียงต่อกันเป็นวงกลม พร้อมด้วยวงกลมที่มีรูปดาวบรรจุเลข 6 ไว้ข้างในที่ว่ากันว่าเหมือนกับโดนัทของค่ายหนึ่งที่ชื่อ “พอนเดอริง” นั่นเอง

ในปีที่ 12 ของการก่อตั้งเหรียญ Abbott WMM กำหนดการของการพิชิตเหรียญในรอบปีนี้จะพิจารณาจาก 7 สนามแข่งขันด้วยกัน โดยสนามแรกเริ่มที่เบอร์ลินในเดือนกันยายน 2018 ที่ผ่านมา จากนั้นก็จะไล่ตามลำดับคือชิคาโก ในเดือนตุลาคม ตามด้วยนิวยอร์ก ในเดือนพฤศจิกายน และในปี 2019 อีก 4 สนามคือโตเกียว ในเดือนมีนาคม บอสตัน กับลอนดอน ในเดือนเมษายน ก่อนจะปิดท้ายด้วยเบอร์ลินอีกครั้งในเดือนกันยายนและนับเป็นการเริ่มต้นรอบปีที่ 13 ของเหรียญนี้ด้วย

ในการพิชิตเหรียญนี้นักวิ่งต้องลงทะเบียนแสดงตนว่าจะวิ่งครบในช่วงเวลาก่อนหน้างานวิ่ง เพื่อรับเหรียญพร้อมใบประกาศนียบัตรที่ยืนยันว่านักวิ่งรายนั้นทำสำเร็จในสิ่งที่เป็นความหมายปองของนักวิ่งทั่วโลก ซึ่งนักวิ่งจำนวนมากที่ทำสำเร็จได้กลายเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คนในเวลาต่อมา

เหรียญรางวัลชนะการแข่งขันมาราธอนนอกจากจะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถแล้ว มันยังเป็นเครื่องบ่งบอกความพยายามในการเอาชนะตัวเองด้วย เนื่องจากการพิชิตมาราธอนไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้เพียงแค่คิด เพราะต้องเตรียมตัวและเตรียมใจอย่างยิ่ง ดังนั้นหากคว้าเหรียญหกดาวหรือ Abbott WMM มาได้มันยิ่งเป็นเรื่องความพยายามขั้นสุดยอดของนักวิ่งคนหนึ่งจริงๆ

post

Hoka One One Bondi 6 รองเท้ารุ่นโคตรนิ่มแห่งปี 2019

รองเท้าวิ่งคือหนึ่งในอุปกรณ์วิ่งที่นักวิ่งให้ความสำคัญในการเลือกซื้อเลือกใช้มากที่สุด เพราะรองเท้าที่ดีนอกจากช่วยให้วิ่งได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่จะเกิดจากการวิ่งด้วย การเลือกรองเท้าที่ถูกออกแบบมาให้ช่วยรับแรงกระแทกจากการวิ่งมากๆ จึงเป็นตัวเลือกที่นักวิ่งมองหา

โดยธรรมชาติแล้วการบาดเจ็บจากการวิ่งที่เกิดกับเท้าจะมีด้วยกัน 2 จุดหลักๆ คือ บริเวณฝ่าเท้าด้านหน้า (Forefoot) และส้นเท้า (Heel) ซึ่งขึ้นกับวิธีวิ่งของแต่ละคน ดังนั้นค่ายผู้ผลิตรองเท้าจึงแข่งขันกันขายคุณภาพในการรับแรงกระแทกทั้งสองจุดดังกล่าวบนผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ค่าย Hoka One One ค่ายรองเท้าจากฝรั่งเศสที่มาสร้างตัวเองในอเมริกาจับจุดเน้นความเป็น Maximalist มาขาย

ในรองเท้ารุ่น Bondi 6 ซึ่งทางนิตยสาร Runner’s World จับรองเท้าหลายรุ่นหลายค่ายไปทดสอบทั้งในห้องแล็บและวิ่งสนามจริงเพื่อให้คะแนนใน 3 เรื่องได้แก่ การรับแรงกระแทกของฝ่าเท้าด้านหน้า การรับแรงกระแทกของส้นเท้าและเรื่องความบิดโค้งในระหว่างวิ่ง จากนั้นทำการให้คะแนนเต็ม 10 ปรากฏว่า Bondi 6 มีคะแนนเรื่องการรับแรงกระแทกที่ฝ่าเท้าด้านหน้าสูงถึง 8.2/10 การรับแรงกระแทกที่ส้นเท้า 9.4/10 และมีค่าความบิดโค้งของรองเท้าไม่ถึง 1/10

ตัวรองเท้านั้นค่อนข้างมีมิดโซลที่หนา ระยะดร็อปของรองเท้าผู้ชายมากถึง 1 ซม. น้ำหนักเกือบ 3 ขีดทำให้มันไม่หนักไปแต่ก็ไม่เบามากนัก ขณะที่รุ่นของผู้หญิงดร็อปก็ยังมากถึง 0.8 ซม. แต่ดีกว่าน้ำหนักรองเท้าผ่าน 2 ขีดมาเพียงเล็กน้อยซึ่งถือได้ว่าเบาเอาการ

 จากการทดสอบผลสรุปออกมาว่านักวิ่งที่ทำการเทสต์รองเท้ารุ่นนี้ต่างก็หลงรักมัน ไม่ว่าจะวิ่งบนลู่หรือวิ่งบนถนน พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่านิ่มเหมือนวิ่งบนฟองน้ำ ซึ่งเมื่อมันรับแรงกระแทกได้ดีมันก็ส่งคืนพลังงานกลับสู่ขาและหัวเข่าได้มากขึ้น มันจึงเหมาะกับนักวิ่งที่กังวลใจเรื่องน้ำหนักและปัญหาการรับภาระของหัวเข่าและข้อเท้า

นอกจากนี้ในส่วนของการระบายอากาศ Hoka One One Bondi 6 ก็ทำออกมาได้ดี โดยถือว่าทำการพัฒนาจากจุดอ่อนในรุ่นก่อนหน้ามาเป็นรุ่นใหม่ที่ถูกใจนักวิ่งมากขึ้น

แต่มีคนชอบก็มีคนไม่ชอบเป็นธรรมดา เมื่อ Bondi 6 มีหลายเสียงบอกว่ามันค่อนข้างออกแบบมามีหน้ารองเท้าที่แคบ และความทนทานหลังจากการวิ่งไปนานๆ ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากหลายคนใช้วิ่งจริงแล้วส่วนของโฟนเอ้าท์โซลหลุดออกมาง่ายเกินไป

แม้จะมีข้อดีข้อเสียอยู่บ้างตามความจริงที่ว่าไม่มีอะไรเพอร์เฟ็ค แต่ Bondi 6 ก็เป็นรองเท้าที่ได้รับความชื่นชมจากนักวิ่งทดสอบจำนวนมาก เมื่อเอามันไปเทียบกับรองเท้าค่ายเดียวกันในรุ่น Bondi 5 หรือรองเท้าวิ่งรุ่นอื่นของ Hoka One One เอง

รองเท้าวิ่ง Hoka One One Bondi 6 เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักวิ่งที่ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว หรือมีปัญหาเกี่ยวกับหัวเข่า เพราะเป็นรองเท้าที่ค่อนข้างรับแรงกระแทกได้ดีเยี่ยมทั้งส่วนของปลายเท้าและส้นเท้า นักวิ่งที่เลือกความนุ่นเบาสบายเวลาวิ่งน่าจะไม่ผิดหวัง 

post

วิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้นจากการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในการวิ่ง

ในยุคที่กระแสการดูแลสุขภาพกลายเป็นเรื่องสำคัญ การวิ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมด้านสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้คนสามารถเริ่มต้นได้อย่างง่ายดาย ใช้อุปกรณ์น้อยและสามารถทำได้ทุกที่

แต่การวิ่งก็เหมือนกับกิจกรรมอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้ ซึ่งมีทั้งที่เกี่ยวกับตัวผู้วิ่ง เช่น ท่าทางในการวิ่ง ลักษณะโครงสร้างของร่างกาย รูปร่างของขาและเท้า ตลอดจนสุขภาพส่วนตัว และในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการวิ่ง อาทิ ลักษณะเส้นทางที่วิ่ง ความลื่น ความลาดชัน ความร้อนของอากาศขณะวิ่ง

เพื่อให้นักวิ่งมีโอกาสบาดเจ็บจากการวิ่งน้อยลง มีวิธีปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บดังนี้

  1. เลือกรูปแบบการวิ่งให้เหมาะกับรูปร่าง น้ำหนัก สภาพร่างกาย ตลอดจนสภาพเส้นทางและระยะทางที่วิ่ง โดยในช่วงแรกของการวิ่งควรมีระยะทางที่ไม่มากเกินไป เพื่อปรับร่างกายให้เคยชิน ส่วนผู้ที่ต้องการวิ่งเพื่อลดน้ำหนักควรจะเริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
  2. ตรวจสอบการเดินและวิ่งของตนเองว่ามีลักษณะการลงน้ำหนักอย่างไร เพื่อเลือกใช้อุปกรณ์ เช่น รองเท้า สายรัดหรือเทปรัดให้ถูกต้อง เหมาะสม
  3. ตรวจเช็คร่างกายว่ามีอัตราการเต้นของหัวใจ ความแข็งแรงกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ รวมถึงปริมาณสัดส่วนไขมันในร่างกาย เพื่อประเมินโอกาสเสี่ยงบาดเจ็บหรือโรคภัยไข้เจ็บ
  4. ทำการอบอุ่นร่างกายก่อนทำการวิ่ง เป็นการเตรียมพร้อมระบบต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อทำการวิ่งก็เป็นไปอย่างราบรื่น เสี่ยงบาดเจ็บน้อยลง
  5. ทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้พร้อม กล้ามเนื้อที่ผ่านการยืดเหยียดเพียงพอจะมีความยืดหยุ่นดีขึ้น ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้ดี มีความคล่องแคล่วเพิ่มขึ้น ร่างกายเกิดความตื่นตัว
  6. ทำการคลายอุ่นร่างกายหลังทำการวิ่ง เพื่อให้กล้ามเนื้อคืนสู่สภาวะปกติ เป็นการลดความเมื่อยล้า ปรับสมดุลการหายใจและการไหลเวียนเลือด
  7. มีเวลาพักฟื้นร่างกายเพียงพอและทานอาหารที่ได้โภชนาการ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการพักฟื้นร่างกายหลังการวิ่ง ขึ้นอยู่กับขนาดของการออกกำลังกาย โดยส่วนใหญ่แล้วหลังการออกกำลังกายในหนึ่งชั่วโมง ร่างกายควรได้รับสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตสูง สารอาหารที่มีไขมันต่ำ นอกจากนี้ในระหว่างการวิ่งและหลังวิ่งก็ควรได้ดื่มน้ำอยู่เสมอ
  8. การเลือกเสื้อผ้าต้องเหมาะสมกับลักษณะการวิ่ง สภาพอากาศ ควรเลือกชุดที่ไม่รัดจนเกินไป รวมถึงชุดที่ไม่เกิดการเสียดสีกับร่างกาย ข้อพับต่างๆ ในระหว่างทำการวิ่ง

นักวิ่งหน้าใหม่ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าตนเองได้ทำการเตรียมพร้อมสำหรับการวิ่งเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงมักจะได้รับบาดเจ็บหลังจากที่วิ่งไปได้สักระยะเวลาหนึ่ง บางคนไม่เข้าใจและศึกษาให้รู้เกี่ยวกับการบาดเจ็บ ก็อาจจะฝืนจนอาการบาดเจ็บนั้นรุนแรง และอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งการบาดเจ็บเหล่านี้ทำให้นักวิ่งต้องมาเสียเวลาและเสียเงินเพื่อรักษาตัวเองอยู่เนืองๆ

การป้องกันตัวเองก่อนที่จะได้รับบาดเจ็บจากการวิ่ง เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่นักวิ่งต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการวิ่งในแต่ละครั้ง หากทำอย่างสม่ำเสมอนอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น ยังช่วยส่งเสริมให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงได้ตามต้องการเร็วขึ้นด้วย

post

รู้จักปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้นักวิ่งเกิดอาการบาดเจ็บได้

การวิ่งเป็นการออกกำลังกายอย่างง่ายๆ แต่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะนักวิ่งที่เพิ่งเริ่มวิ่งใหม่ๆ ที่ขาดการเตรียมตัวหรือศึกษาการเริ่มต้นวิ่งอย่างถูกต้อง

ทุกวันนี้การวิ่งถือเป็นกิจกรรมออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมสูง นอกเหนือไปจากการวิ่งเป็นประจำทุกวัน นักวิ่งทั้งหลายยังให้ความสนใจไปวิ่งตามงานที่จัดขึ้น ทั้งแบบวิ่งส่งเสริมสุขภาพและแบบวิ่งทำการแข่งขันซึ่งหมุนเวียนจัดกันตลอดทั้งปี การวิ่งกลายเป็นเทรนด์สำหรับผู้คนช่วยกระตุ้นให้เกิดนักวิ่งหน้าใหม่และนักวิ่งอยากเข้าสู่วงการวิ่งมากขึ้น

แต่การเริ่มต้นโดยขาดหลักการที่ถูกต้องของนักวิ่งหลายคน ทำให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับอาการบาดเจ็บ ซึ่งมีทั้งที่เป็นการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน และที่กลายเป็นการบาดเจ็บหนักๆ จนถึงขั้นต้องหยุดพักเพื่อทำการรักษาให้หายขาด ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้งานกล้ามเนื้อขาที่ผิดวิธี ท่วงท่าการวิ่งที่ผิดพลาด และการดูแลร่างกายก่อนและหลังทำการวิ่งที่ขาดประสิทธิภาพ

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการบาดเจ็บของนักวิ่งหรือผู้ออกกำลังกายด้วยการวิ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่

  1. ปัจจัยจากตัวนักวิ่งเอง ประกอบไปด้วย
    1. อายุของผู้วิ่ง ปกติแล้วอายุของคนเรามีความสัมพันธ์กับขนาดของมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ร่างกายยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ทำให้กล้ามเนื้อจะมีความทนทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่การฟื้นฟูของร่างกายรวดเร็วกว่า และเช่นเดียวกันในกลุ่มผู้สูงอายุ ร่างกายก็จะมีความเสื่อมถอยลงไป เมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อ ร่างกายจะฟื้นตัวช้ากว่า
    1. สมรรถภาพร่างกายของนักวิ่ง ระดับของสมรรถภาพร่างกายนั้นถือเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ความสามารถในการใช้งานกล้ามเนื้อของแต่ละคนจะมีผลต่อการบาดเจ็บ ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงกว่า กล้ามเนื้อก็จะสามารถรับมืออาการบาดเจ็บได้มากกว่า
    1. โครงสร้างของร่างกาย ถือเป็นปัจจัยที่นักวิ่งแต่ละคนมีแตกต่างกันไป บางคนตัวใหญ่ น้ำหนักมาก เวลาวิ่งก็จะได้รับแรงกระแทกมากกว่าคนตัวเล็กหรือผอมบาง เช่นเดียวกันกับลักษณะรูปทรงของขา กระดูก ฝ่าเท้า รูปร่างเท้า ซึ่งมีผลให้นักวิ่งแต่ละคนมีโอกาสบาดเจ็บแตกต่างกันไป
    1. โภชนาการและวิธีทานอาหาร นักวิ่งที่ดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะเรื่องของการดูแลโภชนาการให้สอดคล้องกับการสร้างกล้ามเนื้อและการซ่อมแซมส่วนที่ใช้งานไป จะมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมต่อการวิ่งมากกว่านักวิ่งที่ละเลยการดูแลเรื่องสารอาหาร
    1. สภาพจิตใจ การออกกำลังกายโดยการวิ่งช่วยทำให้จิตใจปลอดโปร่งได้ แต่นักวิ่งที่วิ่งด้วยสภาวะจิตใจที่ไม่ดีก็อาจจะส่งผลกระทบในทางอ้อมเช่น ความเครียดทำให้กล้ามเนื้อตึง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หายใจไม่เป็นจังหวะหรือทำให้ความดันอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสม
  2. ปัจจัยจากภายนอกที่ทำให้นักวิ่งบาดเจ็บได้
    1. ระยะเวลาในการวิ่ง การวิ่งที่กินเวลานานๆ โดยขาดการฝึกฝนหรือปรับสภาพร่างกายอย่างต่อเนื่องก่อนเกิดการใช้งานเกินกำลังที่ร่างกายและกล้ามเนื้อต่างๆ จะรับมือได้ มักทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้น
    1. ความหนักหน่วงในการวิ่ง ตามปกติแล้วนักวิ่งจะค่อยๆ ปรับระดับของระยะทางที่วิ่งขึ้น แต่ก็จะมีบางคนที่มองข้าม โดยไปลงทำการวิ่งในระยะทางที่ไกลกว่าที่วิ่งเป็นประจำ การทำแบบนี้ร่างกายจะถูกใช้งานเกินขีดจำกัด และมักเกิดการบาดเจ็บในช่วงท้ายๆ ซึ่งเป็นผลเสียอย่างมาก
    1. สิ่งแวดล้อมในการวิ่ง เนื่องจากการวิ่งในแต่ละครั้ง สภาพถนนและสภาพอากาศมีผลไม่น้อยต่อระดับความเสี่ยงที่จะทำให้ร่างกายบาดเจ็บ เป็นต้นว่าถนนที่มีความลื่น ไม่เรียบ หรือลาดเอียงสูง ทำให้นักวิ่งต้องใช้กล้ามเนื้อขามากกว่าปกติ นอกจากนี้ในการวิ่งที่ขนาดเส้นทางไม่สัมพันธ์กับปริมาณนักวิ่งก็อาจจะทำให้เกิดการชนหรือกระแทกกันจนบาดเจ็บได้

อาการบาดเจ็บเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จากการวิ่ง หากรู้ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่สามารถทำให้บาดเจ็บได้ นักวิ่งก็สามารถหลีกเลี่ยงหรือหาวิธีการป้องกันตัวเองไว้ล่วงหน้าได้

post

รวม 7 จุดบาดเจ็บสามัญที่นักวิ่งมือใหม่ต้องเผชิญ

แม้ว่าการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ถึงอย่างนั้นก็มีบ่อยครั้งที่นักวิ่งก็ต้องเผชิญหน้ากับอาการบาดเจ็บจนทำให้ความสุขจากการวิ่งลดลง บางครั้งอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงความเจ็บปวดเล็กน้อย แต่ก็ยังมีอีกหลายอาการที่เป็นอันตรายในระยะยาว

นักวิ่งจำนวนมากมองว่าการวิ่งเป็นเพียงกิจกรรมง่ายๆ ที่มีเพียงแค่การออกตัววิ่งไปก็เรียกว่าวิ่งได้แล้ว นั่นทำให้พวกเขาประมาทต่อโอกาสเกิดการบาดเจ็บจากการวิ่งได้ แม้ว่าการบาดเจ็บของนักวิ่งจะมีจุดที่แตกต่างกันไป แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้บาดเจ็บนั้นมาจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน กล่าวคือนักวิ่งจะมีช่วงเวลาที่ร่างกายลอยตัวจากระดับพื้น และตอนที่ขาสัมผัสพื้นจะเป็นตอนที่น้ำหนักถูกถ่ายจากร่างกายสู่ขาและลงสู่พื้นนั่นเอง ดังนั้นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของร่างกายส่วนใดของขาที่รับน้ำหนักดังที่กล่าวไป ซึ่งบริเวณต่างๆ ที่มีโอกาสเจ็บขึ้นมาจากการวิ่งทั่วไปมี 7 ตำแหน่งด้วยกันได้แก่

  1. ต้นขาด้านนอก เป็นจุดบาดเจ็บที่เรียกว่า ไอทีแบนด์ ตำแหน่งที่ปวดคือกล้ามเนื้อต้นขาซึ่งเกิดจากการตึงเพราะยืดเหยียดจากการก้าวยาวๆ หรือก้าวลงเนินอย่างรวดเร็ว อาการบาดเจ็บบริเวณนี้ในบางรายต้องพักฟื้นกันนาน
  2. ต้นขาด้านหลัง ส่วนนี้เรียกว่าแฮมสตริง โดยทุกการเคลื่อนไหวของขา กล้ามเนื้อส่วนนี้จะมีการทำงานตลอดเวลา อาการบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากการใช้งานหนักเกินไป หรือการหยุดกะทันหัน
  3. เอ็นร้อยหวาย เป็นหนึ่งในอาการเจ็บที่เกิดขึ้นได้ง่าย สามารถรับรู้ได้เมื่อปวดบริเวณข้อเท้าหรือแถวตาตุ่ม หลักๆ เกิดจากการแบกรับน้ำหนักที่เกิดจากการเดินหรือวิ่ง
  4. หน้าแข้ง เป็นบริเวณที่มักเกิดการบาดเจ็บในกลุ่มนักวิ่งที่ไม่เคยฝึกฝนหรือวิ่งเป็นประจำแล้วอยู่ๆ มาวิ่งระยะทางไกลๆ หรือวิ่งเป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อและกระดูก
  5. หัวเข่า เป็นจุดที่เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้บ่อยครั้ง โดยเป็นปัญหาทางกายภาพเกี่ยวกับการทำงานของชุดเข่าและลูกสะบ้า ส่วนใหญ่มักอธิบายด้วยความรู้สึกว่า “หัวเข่ามันกึ๊ก” ถือเป็นหนึ่งในอาการเจ็บที่นักวิ่งชอบฝืนไปต่อเพราะคิดว่าไม่เป็นอันตราย
  6. น่อง อาการเจ็บบริเวณน่องถือเป็นอาการสามัญของนักวิ่งทุกคน โดยเกิดจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณนี้ถูกใช้งานตลอดการวิ่งหรือเดิน มันเกี่ยวข้องกับเรื่องของการสร้างสมดุลในการวิ่งและการทรงตัว ซึ่งการเจ็บมีสาเหตุเนื่องมาจากเฉพาะตัวบุคคล เพราะแต่ละคนจะมีการเคลื่อนไหวและการรับน้ำหนักที่ต่างกันไป
  7. ส้นเท้า เป็นหนึ่งจุดบาดเจ็บที่เริ่มถูกพูดถึงกันอย่างหนาหูโดยเรียกว่า “อาการรองช้ำ” ซึ่งโดยมากเกิดจากการวิ่งแล้วลงน้ำหนักไปที่ส้นเท้าเป็นหลัก อาการบาดเจ็บตรงนี้จะแสดงออกด้วยการรู้สึกเจ็บแปลบเวลาเดินหรือลุกยืน

อาการบาดเจ็บเหล่านี้โดยส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมในการวิ่ง เช่น การไม่วอร์มร่างกายให้พร้อมก่อนการวิ่งและไม่คลายกล้ามเนื้อหลังวิ่งเสร็จ, การไม่ประมาณตนเองในการวิ่ง โดยจู่ๆ ก็ไปหักโหมวิ่งระยะทางไกลๆ หรือวิ่งในแบบที่ยากกว่าปกติอย่างการวิ่งเทรลหรือวิ่งบนทราย หรือวิ่งเป็นเวลานานหรือระยะทางไกลโดยขาดการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็เกี่ยวข้องกับลักษณะท่าทางในการวิ่ง เช่น การลงน้ำหนักของฝ่าเท้าที่ผิด การเลือกรองเท้าที่ออกแบบมาไม่รับกับรูปฝ่าเท้า

เมื่อเกิดบาดเจ็บแล้วนักวิ่งบางคนก็ใส่ใจในการค้นหาที่มาของอาการบาดเจ็บ ทำการรักษาและหาทางแก้ไข แต่มีนักวิ่งอีกจำนวนมากที่ละเลยการบาดเจ็บ โดยคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยและจะหายไปเองหากออกมาวิ่งอย่างสม่ำเสมอ นั่นคือการเปิดโอกาสให้การบาดเจ็บกลายเป็นปัญหาในระยะยาวได้ ดังนั้นเมื่อรู้สึกเจ็บจากการวิ่ง สิ่งสำคัญคือรีบหาคำตอบว่าทำไมบาดเจ็บและรีบรักษาทันทีจึงจะถูกต้อง