post

มาราธอนดีอย่างไรในความคิดของนิ้วกลม

หากเอ่ยชื่อเสียงเรียงนามของ เอ๋ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ใครหลายคนอาจจะยังนึกไม่ออกว่าเขาคนนี้เป็นใคร แต่หากเอ่ยนามปากกาของเขาที่มีชื่อว่า “ นิ้วกลม” เชื่อแน่ว่านักอ่านตัวยงทั้งหลายจะต้องรู้จักเป็นอย่างดี หรือกระทั่งคนที่ชอบวิ่งและอยู่ในวงการวิ่งประเภทมาราธอนก็อาจจะรู้จักดีเช่นเดียวกันก็เป็นได้ เพราะนอกจากนิ้วกลมจะเป็นนักเขียนชื่อดังขวัญใจวัยรุ่นแล้ว เขายังเป็นไอดอลในเรื่องของการวิ่งมาราธอนอีกด้วย โดยนิ้วกลมเกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2521 เป็นบุตรคนเล็กจากบรรดาพี่น้องสามคนในครอบครัวของเขา

นิ้วกลมเป็นนามปากกาที่เขาได้มาอย่างบังเอิญเมื่อครั้งเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหลังจากที่เรียนจบไม่นาน นิ้วกลมก็โลดแล่นอยู่ในสาขาอาชีพต่าง ๆ มากมาย อาทิ งานครีเอทีฟโฆษณา งานผู้กำกับโฆษณา งานนักเขียน งานพิธีกร โดยผลงานแรก ๆ ที่สร้างชื่อให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างในวงการนักเขียนก็คือ “โตเกียวไม่มีขา” และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของนักเขียนหนุ่มที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลาย ๆ คนในเวลาต่อมา

ว่ากันด้วยเรื่องหนังสือ Homo Finishers : สายพันธุ์เข้าเส้นชัย

อย่างที่เกริ่นกันไปแล้วในตอนต้นว่านิ้วกลมนั้นหลงใหลการวิ่งมาราธอนเป็นชีวิตจิตใจ แต่ใครจะรู้ว่าก่อนที่เขาจะหันมาสนใจกีฬาวิ่งประเภทนี้นั้น นิ้วกลมเป็นคนที่ไม่เคยแม้แต่จะชอบการวิ่งมาก่อน แล้วอะไรที่ทำให้เขาหันมาชื่นชอบการวิ่งมาราธอนจนถึงขั้นเขียนหนังสือที่มีความยาวถึง 456 หน้า โดยใช้ชื่อว่า “Homo Finishers : สายพันธุ์เข้าเส้นชัย” ได้นั้น คงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่ที่น่าสนใจมากกว่าคือเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ต่างหาก

Homo Finishers : สายพันธุ์เข้าเส้นชัย เป็นหนังสือที่ว่าด้วยการเล่าเรื่องราวของขั้นตอนกระบวนการตั้งแต่การหัดวิ่งเพื่อไปมาราธอน ตลอดจนกระทั่งวิ่งเข้าเส้นชัย ความรู้สึกระหว่างทางทั้งก่อนและหลังเข้าเส้นชัย สิ่งที่ได้จากการวิ่งมาราธอนคืออะไร ซึ่งมากกว่าแนวทางในการฝึกซ้อม คือข้อคิดที่ได้จากตัวอักษรของนิ้วกลม ที่ไม่เพียงใช้ได้กับการซ้อมวิ่งเพื่อไปมาราธอนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตได้อีกด้วย

โดยนิ้วกลมกล่าวว่ามาราธอนช่วยทำให้คุณสมบัติหรือนิสัยที่เราทุกคนรู้ว่าดีนั้นเกิดขึ้นได้จริงกับตัวเราผ่านการปฏิบัติ ผ่านการลงมือทำในทุก ๆ วัน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการซ้อมวิ่ง เป้าหมายต่าง ๆ ที่ถูกตั้งขึ้นในแต่ละวันของการฝึกซ้อม ความมีวินัย ความอดทน การกัดไม่ปล่อย ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ดีที่ได้จากการซ้อมวิ่งมาราธอน ซึ่งในทางทฤษฎีเราทุกคนรู้ดีว่าคุณสมบัติเหล่านี้ก็สำคัญสำหรับการประสบความสำเร็จในชีวิตในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเช่นเดียวกัน

เขากล่าวว่า “ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไรยากแค่ไหน ก็แค่เดินหน้าไปเรื่อย ๆ” เฉกเช่นเดียวกันกับการวิ่งมาราธอนที่ต่อให้จะเหนื่อยแค่ไหน แต่หากเราไม่หยุดเดิน ไม่นานเราก็จะถึงเส้นชัยในไม่ช้า

สำหรับใครก็ตามที่กำลังหาแรงบันดาลใจในการที่จะจบมาราธอนของตัวเองให้ได้ซักครั้งในชีวิต เชื่อแน่ว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นแนวทางที่ดีให้กับท่านได้ แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าทฤษฎีจะว่าอย่างไร ไม่ว่าประสบการณ์ของคนอื่นจะน่าตื่นเต้นเพียงใด แต่นั่นก็คงไม่มากไปกว่าประสบการณ์ตรงของตัวเราเอง ไม่แน่ว่าหากจบมาราธอนได้สักหนึ่งครั้ง ชีวิตคุณอาจจะเปลี่ยนไปตลอดกาลเลยก็ได้ใครจะรู้

post

รู้จักกับ “บอสตัน มาราธอน” รายการวิ่งที่ต้องถูกยกเลิกในรอบ 124 ปี เพราะผลกระทบจากโควิด-19

เชื่อเหลือเกินว่าปี ค.ศ.2020 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ประวัติศาสตร์จะจารึกไว้อย่างไม่ลืมเลือนว่าเป็นปีที่มนุษยชาติได้ถูกทดสอบอีกครั้งจากธรรมชาติ ด้วยการก่อกำเนิดขึ้นของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) จากประเทศจีน ซึ่งสามารถติดต่อผ่านกันได้จากคนสู่คน ก่อให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อลุกลามใหญ่โตไปทั่วโลก ส่งผลให้ต้องมีการปิดประเทศ ปิดการเดินทางเข้าออกระหว่างแต่ละประเทศทั่วโลก และส่งให้ผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก เนื่องจากปัจจุบันในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2020 ยังไม่มีประเทศใดออกมายืนยันว่าสามารถคิดค้นวัคซีนหรือยาที่ใช้รักษาโรคนี้ได้ ทำให้ปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า New Normal ที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ต้องใส่ Mask ต้องล้างมือให้สะอาดอาจจะยังคงต้องดำเนินต่อไปอีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง

เรียกได้ว่าวิกฤตการณ์นี้ส่งผลกระทบไปทั่วโลกในทุก ๆ วงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการกีฬา อย่างการจัดงาน บอสตัน มาราธอน (Boston Marathon) หนึ่งในงานมาราธอนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเป็น 1 ใน 6 งานวิ่งมาราธอนที่คนชอบวิ่งอยากไปเข้าร่วมด้วยมากที่สุด ซึ่งอีก 5 เมืองที่ใช้ในการจัดงานวิ่งมาราธอนดังกล่าว ประกอบด้วย โตเกียว (เดือนกุมภาพันธ์) นิวยอร์ค (พฤศจิกายน) ชิคาโก (ตุลาคม) เบอร์ลิน (กันยายน) และลอนดอน (เมษายน)

ทำความรู้จักกับบอสตัน มาราธอน

รายการแข่งขันวิ่งมาราธอนชื่อดังอย่าง บอสตัน มาราธอน จะถูกจัดขึ้นทุกปีในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปกติแล้วจะจัดขึ้นทุกวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับวัน Patriots (วันผู้รักชาติ) รายการนี้เป็นรายการวิ่งมาราธอนที่ถือได้ว่าเก่าแก่และดีที่สุดงานหนึ่งของโลก โดยงานวิ่งมาราธอนนี้ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1897 เส้นทางการวิ่งคือเส้นทางพื้นราบสลับเนินเขาตั้งแต่แถบตะวันออกของรัฐแมสซาชูเซตทอดยาวไปจนถึงเมืองบอสตันเป็นระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร

ซึ่งนักวิ่งที่จะสามารถเข้าร่วมรายการแข่งขันนี้ได้จะต้องลงแข่งขันรายการอื่นที่ได้รับการรับรองและผ่านการคัดเลือกมาก่อน โดยทำเวลาได้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น เงินรางวัลสำหรับผู้ชนะไม่ว่าจะเป็นประเภทชายหรือหญิงจะอยู่ที่ประมาณ 150,000 เหรียญสหรัฐ โดยในแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 27,000 คน

แน่นอนว่าในสถานการณ์ที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่รายการแข่งขันนี้จะถูกจัดขึ้น ดังนั้นผู้จัดงานจึงได้ประกาศยกเลิกการจัดการแข่งขันวิ่ง บอสตัน มาราธอน แม้ว่าจะเคยมีความพยายามในการจัดงานโดยการเลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นวันที่ 14 กันยายนแล้วก็ตาม แต่การแพร่ระบาดก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด นี่จึงถือเป็นครั้งแรกในรอบ 124 ปี ที่รายการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับตำนานนี้ไม่ถูกจัดขึ้น

อย่างไรก็ตามเชื่อเหลือเกินว่าในอนาคตหากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หยุดลง หรือมีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์จากประเทศใดประเทศหนึ่งทั่วโลกสามารถคิดค้นยารักษา หรือวัคซีนสำหรับใช้จัดการกับเจ้าไวรัสชนิดนี้ลงได้ เมื่อนั้นก็คงไม่สายที่จะกลับมาจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งมาราธอนรายการดีดีนี้อีกครั้ง เพราะจะอย่างไรเสียมนุษยชาติก็คงจะยังไม่หยุดวิ่งเป็นแน่แท้

post

รู้หรือไม่ “มาราธอน” มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร

กระแสการออกกำลังกายด้วยการวิ่งกำลังมาแรงมากในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ได้มีการจัดกิจกรรมวิ่งการกุศลจากพื้นที่จังหวัดยะลาดินแดนใต้สุดของประเทศไทย ไปจนถึงจังหวัดในพื้นที่เหนือสุดแดนสยามอย่างเชียงราย โดยรวมระยะทางวิ่งทั้งหมดประมาณกว่า 2,191 กิโลเมตร ในโครงการที่มีชื่อว่า “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” เพื่อหาเงินบริจาคให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศนั่นเอง ซึ่งแกนนำหลักที่เป็นตัวตั้งตัวตีทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นมา ก็คือ “นายอาทิวราห์ คงมาลัย” หรือ “ตูน บอดี้แสลม” นักร้องเพลงร็อคชื่อดังระดับแถวหน้าของประเทศไทย และจากกระแสของโครงการนี้นี่เองที่ทำให้การวิ่งมาราธอนได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่เพื่อน ๆ รู้กันหรือไม่ว่า “มาราธอน” นั้น จริง ๆ แล้วมีประวัติความเป็นมา ที่ไปที่มาเป็นอย่างไร

ตำนาน “มาราธอน” ก่อกำเนิดขึ้นจากสงครามระหว่างกรีกกับเปอร์เซีย

มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของมาราธอนอย่างแพร่หลายว่ากว่าเมื่อ 2,500 ปีก่อน ในสมัยที่เกิดสงครามระหว่างกองทัพกรีกกับเปอร์เซีย ณ พื้นที่ทุ่งมาราธอนนั้น ได้มีนายทหารคนหนึ่งของกองทัพกรีกซึ่งมีชื่อว่า
ฟีร์ดิปปิเดซ (Pheidippides) ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข่าวให้แก่ชาวเมืองกรีกที่กรุงเอเธนส์ให้ทราบถึงชัยชนะที่กองทัพกรีกมีเหนือกองทัพเปอร์เซีย ทั้งยังต้องการส่งข่าวให้ชาวเมืองคอยระแวดระวังทหารของกองทัพเรือเปอร์เซียเพิ่มเติม เพื่อความไม่ประมาทอีกด้วย แต่เนื่องจากระยะทางจากทุ่งมาราธอนมาถึงเมืองเอเธนส์นั้นค่อนข้างไกลมากสำหรับการวิ่งอย่างยาวนานโดยไม่ได้พักเลยประมาณ 40 กิโลเมตร (24.85 ไมล์) ทำให้ทหารผู้ทำหน้าที่ส่งข่าวถึงแก่ความตายทันทีหลังจากที่เขาได้ประกาศข่าวแก่ชาวเมืองว่า “เราชนะแล้ว”

แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกผู้หนึ่งที่มีนามว่า เฮโรโดตัส (Herodotus) ได้ให้ข้อมูลอีกแบบหนึ่งว่า ฟีร์ดิปปิเดซมิได้เดินทางจากทุ่งมาราธอนไปกรุงเอเธนส์เพื่อประกาศชัยชนะแต่อย่างใด แต่เขาได้วิ่งจากกรุงเอเธนส์เพื่อไปขอความช่วยเหลือทางด้านกองกำลังจากสปาร์ตาต่างหาก และระยะทางวิ่งไปกลับก็ประมาณ 240 กิโลเมตรเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากแหล่งอื่นที่กล่าวกันว่าคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข่าวนั้นแท้จริงแล้วมีชื่อว่า “ฟีร์ลิปปิเดซ (Philippides)” ต่างหาก แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าประวัติความเป็นมาที่ถูกต้องตามความเป็นจริงนั้นจะเป็นอย่างไร แต่นี่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นและที่มาของกีฬาวิ่งประเภท “มาราธอน” ในปัจจุบัน

จากประวัติความเป็นมาดังกล่าว นี่จึงเป็นที่มาของสาเหตุหลักสำคัญที่นักกีฬาที่จะทำการลงแข่งขันวิ่งมาราธอน จะต้องมีการเตรียมพร้อมร่างกายตัวเองเป็นอย่างดี ไม่เพียงแค่การซ้อมวิ่งในแต่ละวันก่อนการแข่งขันเพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมสำหรับมาราธอนเท่านั้น แต่ในเรื่องของการเตรียมตัวในด้านโภชนาการอาหารการกินก็จำเป็นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ระหว่างการวิ่งมาราธอนจะต้องมีการพักดื่มน้ำบ้างเป็นระยะ ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายเหนื่อยล้า หรือขาดน้ำมากเกินไป จนส่งผลอันตรายต่อร่างกายร้ายแรงได้นั่นเอง

post

ประเทศไทย กับ การจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การวิ่ง เป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่สามารถเล่นได้ทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนสูงอายุ ผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นกีฬาที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมายอะไรเลยในการออกกำลังกาย เพียงแค่มีรองเท้าวิ่งดีดีซักคู่ กับใจที่อยากมีสุขภาพที่ดี เท่านี้ ก็สามารถที่จะออกไปโลดแล่นในสนามวิ่ง ทั้งในแบบสนามที่เป็นทางการตามสถานศึกษา มหาวิทยาลัย หรือจะเป็นเส้นทางในสวน หรือตามถนนในหมู่บ้านกันได้แล้ว จะว่าไปแล้วปัจจุบันกิจกรรมการวิ่งในประเทศไทยนั้นถูกจัดขึ้นกันอย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย ทำให้เกิดนักวิ่งมือใหม่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี

โดยระยะที่จัดให้มีการแข่งขันกัน ก็มีหลาย ๆ ระยะให้เลือกด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นระยะเริ่มต้นอย่าง Fun Run 5 กิโลเมตร ระยะมินิมาราธอน 10.50 กิโลเมตร ระยะฮาฟมาราธอน 21.10 กิโลเมตร หรือจะเป็นระยะฟูลมาราธอน 42.195 กิโลเมตร เป็นต้น และสำหรับใครที่มีความสนใจเกี่ยวกับการจัดงานแข่งขันวิ่งในประเทศไทย วันนี้เรามีประวัติความเป็นมาของการจัดงานวิ่งมาราธอนครั้งแรกในประเทศไทยมาฝากกันดังนี้

การจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งแรกในประเทศไทย

การแข่งขันมาราธอนที่ถูกจัดครั้งแรกในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี พ.ศ.2530 ซึ่งนับเป็นปรากฎการณ์การวิ่งมาราธอนที่หลาย ๆ คนในยุคสมัยนั้นประทับใจไม่รู้ลืม โดยงานวิ่งในครั้งนั้นใช้ชื่อว่า “งานวิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ (Royal Marathon Bangkok)” โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนั้นขึ้นมามีด้วยกันหลายประการ อาทิ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสการเปิดใช้งานสะพานพระราม 9 ซึ่งเป็นสะพานที่ใช้สัญจรไปมาข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร และเพื่อเป็นการร่วมถวายพระพรให้กับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทยที่มีพระชนมายุครบ 5 รอบในขณะนั้น นอกจากนี้ยังเป็นการจัดงานเพื่อระดมทุนที่จะใช้ในการสร้างอาคารสยามมินทร์ ซึ่งเป็นอาคารแห่งหนึ่งที่ไว้ใช้สำหรับรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราชอีกด้วย

โดยการจัดการแข่งขันในครั้งนั้น นอกจากระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ที่แบ่งออกเป็นรุ่นอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และรุ่นทั่วไปที่ไม่จำกัดอายุแล้ว ยังมีรายการอื่น ๆ อีกด้วย ได้แก่ รายการระยะฮาฟมาราธอน 2 รุ่นเช่นเดียวกับระยะมาราธอน รายการระยะมินิมาราธอน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 รุ่น คือ รุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี รุ่นอายุระหว่าง 20-40 ปี และรุ่นอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ทั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายการมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร ที่มีผู้เข้าร่วมสูงสุดถึง 80,000 คน โดยประกอบไปด้วยผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งนี้เพื่อน ๆ สามารถไปหาชมภาพบรรยากาศงานวิ่งครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยกันได้ เพื่อที่จะได้มีโอกาสเห็นถึงจุดเริ่มต้นการจัดการแข่งขันมาราธอนครั้งแรกในประเทศไทยกันได้อย่างเต็มอิ่ม

อย่างไรก็ดีต่อให้เพื่อน ๆ จะอยากออกกำลังกายโดยการวิ่งเพราะวัตถุประสงค์ใด แต่สิ่งสำคัญก็คือการใส่ใจสุขภาพ และวิธีการวิ่งที่ถูกต้อง เพื่อให้เพื่อน ๆ ได้ประโยชน์จากการออกกำลังกายประเภทนี้โดยปราศจากซึ่งอาการบาดเจ็บใด ๆ โดยที่ไม่จำเป็น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในซักวันเพื่อน ๆ จะสามารถเก็บรายการการวิ่งได้ทุก ๆ ระยะดังที่กล่าวมา

post

“มาราธอน” กีฬาวิ่งระยะไกล เสน่ห์อย่างหนึ่งในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

กีฬาวิ่งเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยทั้งพลังกายและพลังใจค่อนข้างมากในการเล่น เนื่องจากเป็นกีฬาที่ใช้สองเท้าวิ่งก้าวออกไป ยิ่งเป็นการออกกำลังกายโดยตัวคนเดียวแล้ว การมีวินัย และใช้พลังใจที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะกีฬาประเภทนี้สามารถหยุดเล่นได้ทุกขณะหากหมดใจ หรือรู้สึกเหนื่อยมาก ๆ ยิ่งเป็นระยะทางวิ่งที่ไกล ๆ อย่างเช่นการวิ่ง “มาราธอน” ด้วยแล้ว หากผู้วิ่งมีจิตใจไม่เข้มแข็งหรือซ้อมมาไม่มากเพียงพอ ร่างกายก็อาจพร้อมที่จะยอมแพ้และล้มเลิกไปได้ง่าย ๆ ดังนั้นกีฬาประเภทนี้จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการใช้ฝึกความมีวินัยของตนเอง โดยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้นได้บรรจุกีฬาประเภทนี้เข้าไว้เป็นหนึ่งในรายการแข่งขันด้วย  ดังนั้นเราไปดูกันดีกว่าว่าเจ้ากีฬามาราธอนนี้ได้มาโลดแล่นอยู่ในรายการแข่งขันระดับโลกนี้ได้อย่างไร

การโลดแล่นของกีฬาวิ่งมาราธอนในการแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิก

การแข่งขันกีฬาวิ่งระยะไกลอย่าง “มาราธอน” นั้นได้ถูกบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในรายการแข่งขันของการแข่งขันกีฬาระดับโลกของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกครั้งแรกในปี ค.ศ.1896 ซึ่งผู้ริเริ่ม ก็คือ นายบารอน ปิแอร์ เดอ คูแบร์เต็ง โดยได้มีการจัดการแข่งขัน ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งกติกาการจัดการแข่งขันในครั้งนี้กำหนดให้ผู้เข้าแข่งขันที่วิ่งได้ครบระยะทาง 40 กิโลเมตร (24.85 ไมล์) ก่อนเป็นผู้ชนะ โดยระยะดังกล่าวนี้เป็นระยะทางการวิ่งที่อ้างอิงมาจากตำนานของนายทหารชาวกรีกที่มีนามว่า ฟีร์ดิปปิเดซ (Pheidippides) ผู้ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กีฬาการวิ่งมาราธอนถือกำเนิดขึ้น ส่วนผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะการแข่งขันกีฬาวิ่งมาราธอนในโอลิมปิกคนแรกของโลก ก็คือ สปิริดอน หลุยส์ (Spyridon Louis) ซึ่งมีอาชีพเป็นพนักงานส่งไปรษณีย์ โดยหลุยส์สามารถวิ่งในระยะทาง 40 กิโลเมตร โดยใช้เวลาไปทั้งสิ้น 2.58.50 ชั่วโมง

รู้หรือไม่ระยะการวิ่งมาราธอนสากลในปัจจุบันคือระยะทางเท่าใด

ต่อมาในปี ค.ศ.1908 ได้มีการจัดการแข่งขันมาราธอนภายใต้รายการแข่งขันโอลิมปิกขึ้นอีกครั้งที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้น ระยะทางที่จะใช้ก็ควรจะเป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร เช่นเดิม แต่เนื่องจากเพื่อให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ผู้ชื่นชอบการชมและเชียร์การแข่งขันกีฬาเป็นอย่างมาก สามารถมองเห็นนักกีฬาที่สามารถเข้าสู่เส้นเป็นผู้ชนะในรายการแข่งขันนี้ได้อย่างชัดเจน ระยะทางการแข่งขันวิ่งมาราธอนจึงถูกเปลี่ยนเป็น 42.195 กิโลเมตร (26.22 ไมล์)โดยเส้นทางการวิ่งในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นของการวิ่งอยู่ที่พระราชวังวินเซอร์ ไปสิ้นสุดที่ White City Stadium หน้าพระพักตร์ของพระองค์นั่นเอง และต่อมาในปี ค.ศ.1921 ผ่านไปเป็นระยะเวลา 13 ปี นับจากการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่ลอนดอน ทางสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (IAAF, International Association of Athletics Federations) ก็ได้ออกข้อกำหนดอย่างเป็นทางการให้ระยะทางการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับสากล อยู่ที่ระยะทาง 42.195 กิโลเมตรนั่นเอง

และนี่คือที่มาที่ไปของการโลดแล่นอยู่ของรายการแข่งขันวิ่งมาราธอนในการจัดการแข่งขันโอลิมปิก ทำให้ต่อมาเมื่อมีการจัดการแข่งขันรายการวิ่งมาราธอนโดยทั่วไปจึงยึดเอาระยะทางดังกล่าวเป็นระยะทางที่ใช้ในการจัดการแข่งขัน สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่ไม่ทราบประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการจัดการแข่งขันมาราธอนระดับโลกอย่างในโอลิมปิก ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความรู้และสาระเพิ่มเติมไว้ใช้สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนกันกับเพื่อน ๆ คอนักวิ่งต่อไป

post

เปิดประวัติ “เอลิอุด คิปโชเก้” สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการมาราธอน

เชื่อเหลือเกินว่าคอกีฬาที่ชอบเชียร์กีฬาวิ่งอย่างมาราธอน จะต้องเคยติดตามรายการแข่งขันวิ่งระดับโลกอย่างการแข่งขันมาราธอนในงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาแล้วไม่มากก็น้อย และหากเป็นคนที่ติดตามรายการแข่งขันนี้มาแล้วเป็นอย่างดีจริง ๆ จะต้องรู้จักกับนักวิ่งชาวเคนยาที่มีชื่อว่า “เอลิอุด คิปโชเก้” กันอย่างแน่นอน ซึ่งชายผู้นี้จะเป็นใครไปไม่ได้ เพราะเขาคือผู้ชนะจากการแข่งขันวิ่งมาราธอนในงานโอลิมปิกเกมส์ที่ถูกจัดขึ้นที่ประเทศบราซิล ในนครรีโอเดจาเนโร เมื่อปี ค.ศ.2016 นอกจากนี้เขายังเป็นเจ้าของสถิติการวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุดในโลกด้วยระยะเวลาที่เขาใช้วิ่งในระยะทาง 42.195 กิโลเมตร เพียง 1 ชั่วโมง 59 นาที 40.2 วินาที ทันทีที่เขาก้าวเข้าสู่เส้นชัยในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.2019  ซึ่งเป็นสถิติใหม่ที่ลบความเชื่อของชาวโลกที่ว่าคนทั่วไปจะสามารถจบระยะมาราธอนได้โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นวันนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับชายคนนี้กันให้มากขึ้น

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “เอลิอุด คิปโชเก้”

เอลิอุด คิปโชเก้ เกิดเมื่อปี ค.ศ.1985 ในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศเคนยา เขาเติบโตมาโดยการเลี้ยงดูของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวพร้อม ๆ กับพี่สาว 2 คนและพี่ชายอีก 2 คน ของเขา เนื่องจากพ่อของเขาเสียชีวิตไปตั้งแต่ที่เขายังเป็นเด็ก ในวัยเด็กคิปโชเก้ ต้องวิ่งจากบ้านไปกลับโรงเรียนเป็นระยะทาง 5 – 6 กิโลเมตร ทุกวัน โดยคำพูดหนึ่งของเขาที่อาจจุดประกายให้ใครหลาย ๆ คนเห็นถึงคุณค่าความสำคัญของเวลา ก็คือ “เวลามีจำกัด ดังนั้นถ้าคุณไม่วิ่ง เวลาก็มีไม่พอ” เขาเคยแม้กระทั่งรับจ้างวิ่งส่งนมจากชาวบ้านเพื่อไปขายในเมืองที่ห่างออกไปกว่า 20 กิโลเมตร และด้วยกิจวัตรแบบนั้นของเขา ทำให้ร่างกายของเขาแข็งแกร่งขึ้นโดยอัตโนมัติ

คิปโชเก้เป็นคนที่มักจะมีเป้าหมายให้กับตัวเองอยู่เสมอ ดังนั้นทันทีที่เขาเก็บเงินได้มากพอที่จะซื้อรองเท้าสำหรับฝึกวิ่ง เขาก็ไม่ลังเลที่จะทำ เขาฝึกทุก ๆ อย่างเกี่ยวกับการวิ่งด้วยตนเองทั้งหมดโดยปราศจากคำแนะนำจากโค้ชมืออาชีพใด  ๆ และแน่นอนว่าด้วยข้อจำกัดในเรื่องของพื้นฐานการฝึกซ้อมที่อาจมีไม่มากเพียงพอ ทำให้ผลการแข่งขันวิ่งระดับประเทศครั้งแรกของเขาไม่เป็นไปอย่างที่เขาหวัง แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ คิปโชเก้ตระหนักดีว่าเขาต้องแก้ที่วิธีฝึกซ้อมของเขาให้ถูกต้องตามหลักการพื้นฐานมากยิ่งขึ้น

และเมื่อเขาฝึกซ้อมได้จริงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ความสำเร็จครั้งแรกของเขาก็เกิดขึ้น คือเขาสามารถเอาชนะคู่แข่งทั้งหมดได้อย่างขาดลอยในงานแข่งขันวิ่งระยะ 10 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ.2001 และในการแข่งขันครั้งนี้เองที่ได้เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล เพราะคิปโชเก้ได้มีโอกาสรู้จักกับชายผู้เป็นเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของเขา และชายผู้นั้น ก็คือ “แพทริก แซง” ชายผู้เป็นหนึ่งในตำนานนักวิ่งคนหนึ่งของประเทศเคนยา โดยแซงได้สอนทุกอย่างที่จะช่วยทำให้คิปโชเก้แสดงความสามารถของเขาออกมาได้มากที่สุด และคิปโชเก้ก็ไม่ทำให้แซงผิดหวัง เพราะพรสวรรค์ของเขาเปรียบเสมือนดังเพชรที่รอการเจียรไนให้ส่องประกายสว่างให้คนทั่วโลกได้เห็นนั่นเอง

สุดท้ายแล้วที่สุดของความสำเร็จของคิปโชเก้ ก็คือ การที่เขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นนักวิ่งคนแรกของโลกที่สามารถจบระยะฟูลมาราธอนได้ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงนั่นเอง นับเป็นสถิติที่ดีที่สุดทั้งของตัวเขาเองและของโลกใบนี้เลยทีเดียว และเชื่อเหลือเกินว่าหากใครมีโอกาสได้ศึกษาประวัติชีวิตของคิปโชเก้อย่างละเอียดมากขึ้น จะต้องได้รับแง่คิดดีดี และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตจากชายผู้นี้เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

post

สิ่งที่ต้องเจอระหว่างแข่งวิ่งมาราธอน ที่คุณอาจไม่เคยรู้

จริงจังแค่ไหน  แค่ไหนเรียกจริงจัง ? ระยะชนะใจหรือระยะชนะใคร? กับการวิ่งมาราธอน ระยะพิชิตฝันของใครหลาย ๆ  คน “ซ้อม ซ้อม ซ้อม ฝึก ฝึก ฝึก” ความมีวินัยล้วน ๆ ที่ทำให้ให้ใครต่อใครหลายต่อหลายคนก้าวไปสู่ระยะทางสุดโหดตลอดระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ที่มีหลายสิ่งหลายอย่างซ่อนอยู่อย่างที่คุณอาจไม่เคยรู้

ถ้าคิดว่าการวิ่งเข้าเส้นชัยแล้วได้รับเหรียญรางวัล ถ้วยรางวัล หรือแม้แต่ เสื้อ Finisher ที่แสนภาคภูมิใจว่าเราพิชิตใจตัวเองได้ นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ก้าวต่อไปในสนามแข่งขันมาราธอนอย่างมีความสุขในสนามต่อ ๆ ไป

ในเมื่อเป็นระยะพิชิตใจ เวลาที่สัญญาณปล่อยตัวดังขึ้น ชีวิตช่างโลดแล่น ดีใจเหมือนไก่จะบิน ก้าวต่อก้าว วิ่งไปตามใจฝัน เพราะเส้นชัยคือเป้าหมาย แต่ละกิโลเมตรช่างมีความหมาย ระยะทางแต่ละช่วงจะทำให้เราได้คิดอะไรต่าง ๆ ได้มากมาย และด้านล่างนี้ คือ สิ่งที่คุณต้องเจอแน่นอน

เริ่มจากร่างกายจะค่อย ๆ เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเราออกมา ความอ่อนแอ อาการบาดเจ็บ ปวดตึง ปวดแปลบ ตะคริวก็มา ทุกสิ่งจะค่อย ๆ เผยตัวออกมาทีละนิด ถ้าคุณอ่อนซ้อม อาการเหล่านี้มาแน่นอน

คุณจะได้สติและมีความสุขจากการวิ่งมาราธอน
เพราะทุกก้าวของคุณมีความหมาย เอนโดรฟินจะสูบฉีดให้คุณมองทุกอย่างระหว่างอย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ๆ ในสนาม กองเชียร์ หรือแม้แต่หน่วยปฐมพยาบาลที่คอยดูแลเราตลอดเส้นทาง เราจะพบรอยยิ้มและมีผู้ให้กำลังใจเสมอ

ตอนซ้อมเคยได้ยินเสียงหัวใจตัวเองเต้นดังแล้ว ในสนามของมาราธอนคุณจะได้ยินเสียงหัวใจของคุณดังไปกว่านั้น ความตื่นเต้น เร้าใจ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการวิ่งอย่างจริงจัง เมื่อคุณนึกถึง DNF ซึ่งย่อมาจาก Did Not Finish ซึ่งก็แปลตรงตัว คือ (วิ่ง)ไม่จบ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดที่ต้องยุติการแข่ง ก็เรียกว่า DNF ทั้งนั้น นั่นหมายถึงในสนามนี้คุณจะไม่ได้ไปต่อ มันจึงทำให้คุณต้องพยายามที่จะฮึดขึ้นสู้และก้าวต่อไป ตามความมุ่งมั่นที่พกมาเต็มเปี่ยม

และสิ่งสุดท้ายที่ทุกคนต้องเจอระหว่างแข่งวิ่งมาราธอน นั่นคือ ความทรงจำและประสบการณ์ ทั้งที่ดีและไม่ดีจากแต่ละสนาม ประสบการณ์จะนำพามาซึ่งการแก้ไขตัวเองในสนามต่อ ๆ ไป และความทรงจำจะบอกเราเสมอว่า “ครั้งหนึ่งฉันเคยผ่านระยะพิชิตใจ” ที่เรียกว่ามาราธอนมาแล้ว และมันทำให้ฉันอยากจะก้าวต่อไปให้ได้ไกลกว่าเดิม

ไม่ว่าคุณมีเป้าหมายอะไรในการวิ่งมาราธอนก็ตาม ขอเพียงกายพร้อม ใจพร้อม และหมั่นซ้อมอย่างมีวินัย อย่าว่าแต่มาราธอนเลย ไตรกีฬา คุณก็ผ่านมันไปได้อย่างสบาย ๆ ทุกเป้าหมายมีไว้พุ่งชน คนที่อดทนก็ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้เช่นกัน ขอให้มีความสุขกับการวิ่งมาราธอน แล้วคุณจะรู้ว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างในการวิ่ง ที่คนไม่ออกมาวิ่งไม่มีทางรู้