post

เคล็ดลับในการเลือกซื้อรองเท้าสำหรับนักวิ่งมือใหม่

การวิ่งในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่เป็นกีฬาที่ง่ายที่สุด เพราะไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อะไรมากมาย เพียงแค่มีชุด และรองเท้าที่ใส่สำหรับออกกำลังกายก็สามารถวิ่งได้แล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วกีฬาวิ่ง เป็นกีฬาที่ต้องใช้ทักษะ และความสามารถเฉพาะตัว ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนค่อนข้างมาก ถึงจะทำให้วิ่งได้อย่างถูกวิธี การวิ่งถูกวิธีก็จะทำให้ผู้วิ่งรู้สึกสนุก และไม่เกิดอันตรายต่อร่างกายในขณะวิ่ง อันตรายที่เกิดจากการวิ่ง ได้แก่ การวิ่งโดยไม่รู้ถึงสุขภาพของตนเองทำให้วิ่งเกินกำลังจนขาดอากาศหายใจในขณะที่วิ่ง และการวิ่งแบบผิดวิธีทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเท้าในระยะยาว เป็นต้น สำหรับมือใหม่หัดวิ่งแล้วต้องจำไว้ว่าในการวิ่งอุปกรณ์ที่สำคัญ และมีความจำเป็นอย่างมากก็คือ รองเท้า การเลือกซื้อรองเท้าสำหรับนักวิ่งมือใหม่มีเคล็ดลับ ดังต่อไปนี้

  1. ในการเลือกซื้อรองเท้าสำหรับวิ่งต้องจำไว้เสมอว่า รองเท้าวิ่งไม่ใช่รองเท้าแฟชั่น จึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความสวยงาม หรือความนำสมัยเป็นหลักสำคัญ สำหรับนักวิ่งมือใหม่ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับรองเท้ามากนักวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการไปเลือกซื้อที่แผนกกีฬา แผนกนี้จะแบ่งหมวดหมู่รองเท้าที่เหมาะกับกีฬาแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน แต่ถ้าต้องการเลือกเองควรเลือกรองเท้าให้ใส่สบาย พอดีกับเท้า ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป มีน้ำหนักเบา เหมาะกับรูปเท้า รองรับน้ำหนักของร่างกายได้ในขณะที่วิ่ง ที่สำคัญที่สุดต้องกันกระแทกบริเวณข้อเท้าได้เป็นอย่างดีในขณะที่วิ่ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้นักวิ่งมือใหม่วิ่งได้สนุก วิ่งได้นานมากขึ้น และไม่รู้สึกเจ็บจนเกิดอันตรายข้อเท้าในขณะที่วิ่ง
  2. ควรไปเลือกซื้อรองเท้าด้วยตนเอง ไม่ควรสั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ต หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ไม่ได้ลองรองเท้าก่อนซื้อ เนื่องจากรองเท้าแต่ละรุ่น แม้จะเป็นยี่ห้อเดียวกันก็จะมีสรีระ และรูปร่างที่แตกต่างกันทำให้เมื่อนำมาใส่จริงแล้วมีความรู้สึกที่แตกต่างกัน จึงควรลองก่อนซื้อทุกครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักวิ่งมือใหม่ การลองควรเตรียมถุงเท้าที่ใส่ในการวิ่งจริงไปลองคู่กับรองเท้าด้วย เพราะถุงเท้ามีหลากหลายรูปแบบ เช่น ถุงเท้าหนา ถุงเท้าบาง ถุงเท้ากันกระแทก ถุงเท้าสำหรับวิ่งระยะสั้น และถุงเท้าลดการเสียดสีที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ เป็นต้น
  3. อีกสิ่งที่ควรคำนึงถึงสำหรับนักวิ่งมือใหม่คือ การเลือกรองเท้าให้เหมาะกับสถานที่ที่จะวิ่ง นั่นคือ ต้องรู้ก่อนว่าจะไปวิ่งที่สถานที่ใด นั่นคือ การวิ่งบนพื้นผิวถนน หรือพื้นผิวเรียบ ได้แก่ สนามกีฬาทั้ง Indoor / Outdoor หรือ พื้นผิวถนน และการวิ่งบนพื้นผิวดิน หรือพื้นผิวที่ขรุขระ ไม่เรียบ ได้แก่ พื้นหญ้า หรือ พื้นดิน เป็นต้น

สำหรับนักวิ่งมือใหม่แล้วการเริ่มต้นหารองเท้าคู่ใจสำหรับการวิ่งควรคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 อย่างข้างต้นก่อน เมื่อวิ่งจนเก่ง และมีความชอบในการวิ่งแล้ว ค่อยคำนึงถึงองค์ประกอบอื่น ๆ สำหรับการเลือกซื้อรองเท้าสำหรับวิ่งคู่ต่อไป ที่จะเป็นรองเท้าสำหรับนักวิ่งมืออาชีพ

post

5 อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับนักกีฬาสายวิ่ง

กีฬาวิ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก คนส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายมักจะเลือกการวิ่งเป็นกีฬาแรก ๆ ที่จะออกกำลังกาย วิ่งถือเป็นกีฬาที่เผาผลาญ และใช้พลังงานมากประเภทหนึ่ง สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย ต้องการที่จะลดน้ำหนัก และต้องการรักษารูปร่างให้สวยงามจึงมักจะเลือกกีฬาวิ่งเป็นตัวเลือกหลักเพื่อรักษาสิ่งต่าง ๆ เอาไว้ และที่สำคัญที่สุดที่ทำให้กีฬาวิ่งได้รับความนิยมก็คือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับวิ่งมีไม่มากเท่ากีฬาประเภทอื่น ๆ ทำให้ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้วิ่ง อุปกรณ์ที่มีความจำเป็น และขาดไม่ได้สำหรับนักวิ่ง มีดังต่อไปนี้

  1. ชุดสำหรับวิ่ง ซึ่งชุดที่จะนำมาใส่วิ่งนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นชุดที่มีราคาแพง สิ่งที่สำคัญก็คือเนื้อผ้าของชุดต้องเป็นเนื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่หนักจนเกินไป เสื้อ และกางเกงต้องไม่รุ่มร่าม ทำให้มีความคล่องตัวในขณะที่วิ่ง นอกจากนี้ยังต้องระบายความร้อนในขณะที่ทำการวิ่งได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่ชุดที่ถูกออกแบบมาสำหรับกีฬาจะมีลักษณะเนื้อผ้าดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นผู้ที่ไม่ต้องการเสียเงินซื้อชุดสำหรับวิ่งก็สามารถนำชุดกีฬาประเภทอื่นมาใช้ได้
  2. รองเท้าสำหรับวิ่งถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก รองเท้าที่ดีก็จะทำให้ผู้วิ่งได้รับความปลอดภัยในการวิ่งเพราะรองเท้าจะทำหน้าที่ช่วยดูแลเท้าในขณะที่ทำการวิ่ง เวลาไปเลือกซื้อรองเท้ากีฬาจะมีการระบุประเภทของรองเท้าไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ว่ารองเท้าที่กำลังเลือกอยู่เป็นรองเท้าสำหรับกีฬาประเภทใด โดยหลักแล้วรองเท้าที่เหมาะสำหรับวิ่งต้องกระชับ มีน้ำหนักเบา รองรับน้ำหนักของเท้าได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญที่สุดต้องช่วยกันแรงกระแทกที่เกิดในขณะที่วิ่ง
  3. ผ้าคาดหัว ก็ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นอย่างมาก ช่วยซับเหงื่อในขณะที่วิ่งทำให้เหงื่อไม่เข้าตา ทำให้รู้สึกแสบตาในขณะที่วิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องวิ่งทางไกล เป็นระยะเวลานาน ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว
  4. ชุดชั้นในสำหรับวิ่ง สำหรับผู้หญิงคงต้องพูดถึงบราที่ใช้สำหรับวิ่งต้องเป็นบราสำหรับออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาโดยเฉพาะ เพราะจะถูกออกแบบมาให้ผู้หญิงมีความสบายในขณะที่วิ่ง และที่สำคัญที่สุดก็คือ หน้าอกไม่เสียทรงจากการวิ่งอีกด้วย สำหรับผู้ชายกางเกงที่ช่วยกระชับกล้ามเนื้อสำหรับวิ่ง กางเกงประเภทนี้ถูกออกแบบมาให้ระบายอากาศได้ดี ทำให้ไม่อับชื้น และที่สำคัญที่สุดก็คือการป้องกันการเสียดสีบริเวณขาหนีบได้เป็นอย่างดี
  5. กระเป๋าคาดเอวสำหรับวิ่ง แม้ว่าในความเป็นจริงนักวิ่งทั้งหลายจะไม่มีอุปกรณ์จำนวนมาก แต่อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ กุญแจรถ และเงิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ควรมีกระเป๋าไว้ใส่ ซึ่งกระเป๋าสำหรับวิ่งถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักเบา และกระชับกับเอว ทำให้ไม่รู้สึกเกะกะในขณะที่วิ่ง

สำหรับนักวิ่งทั้งหลายก่อนที่จะต้องออกวิ่ง ลองหาอุปกรณ์พื้นฐานเหล่านี้ติดตัวไว้รับรองว่าจะทำให้การวิ่งสนุกขึ้นอย่างแน่นอน

post

วิธีการเลือกชุดสำหรับการวิ่งระยะไกลให้สบายตัว

ชุดสำหรับวิ่งนั้นถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับนักวิ่ง รองจากการมีรองเท้าที่เหมาะสำหรับวิ่ง จึงเป็นสิ่งที่นักวิ่งต้องให้ความสำคัญอย่างมาก หลาย ๆ คนมองว่าการวิ่งนั้นจะใส่ชุดอะไรวิ่งก็ได้ขอแค่เป็นชุดกีฬาก็เพียงพอแล้ว ซึ่งก็เป็นความคิดที่ไม่ผิดแต่อย่างใด ซึ่งชุดกีฬาทั่วไปเหมาะกับนักวิ่งมือใหม่ที่เพิ่มเริ่มหัดวิ่ง เน้นการวิ่งระยะสั้น แต่เมื่อผันตัวเองมาเป็นนักวิ่งมืออาชีพ ที่ชื่นชอบการวิ่ง โดยเฉพาะการวิ่งมาราธอนที่มีระยะทางไกล ๆ แล้ว การใส่ชุดกีฬาทั่วไป ถือเป็นความคิดที่ผิดอย่างมาก นักวิ่งมือใหม่หลาย ๆ คน เมื่อวิ่งไปได้ระยะหนึ่งแล้วรู้สึกไม่อยากวิ่งต่อปัญหาหลัก ๆ ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การเลือกชุดที่ไม่เหมาะกับการวิ่ง ทำให้วิ่งไม่สนุก เหนื่อยง่าย และอาจจะเกิดอันตรายจากการวิ่งได้ ดังนั้น ชุดวิ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่นักวิ่งมืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิ่งที่ชอบการวิ่งระยะทางไกล ๆ ควรสนใจ วิธีการเลือกมีดังต่อไปนี้

  1. เสื้อที่ใช้สำหรับวิ่งต้องจำไว้ว่า การวิ่งไม่จำเป็นต้องเน้นแฟชั่น เนื้อผ้าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด เนื้อผ้าต้องเบาสบาย ระบายเหงื่อ และความร้อนได้เป็นอย่างดี แห้งเร็ว เสื้อไม่ควรมีตะเข็บโดยเฉพาะในบริเวณที่ต้องเสียดสีมาก ๆ อย่างใต้วงแขน เพราะการวิ่งจะมีลักษณะเดิม ๆ ถ้ามีตะเข็บอาจจะทำให้เกิดแผลจากการเสียดสีได้ เมื่อเลือกเนื้อผ้าที่ชอบแล้วค่อยดูแบบเป็นอันดับต่อไป สิ่งที่จำเป็นต้องพิจารณาอีกอย่างก็คือ ไม่ควรเลือกซื้อเสื้อให้คับเกินไป เพราะในขณะวิ่งการหายใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้สีก็มีความสำคัญ ถ้าวิ่งในเวลากลางคืน หรือเช้ามืดไม่ควรเลือกสีเข้ม หรือสีทึบ ๆ อาจจะเกิดอันตรายในขณะวิ่งได้
  2. กางเกง การวิ่งทางไกลควรเลือกกางเกงขายาวที่ช่วยรัด หรือกระชับกล้ามเนื้อช่วยในการประคองกล้ามเนื้อไม่ให้กระเทือน และกระแทก เพราะการวิ่งระยะทางไกล เป็นการลงจังหวะขาซ้ำ ๆ กล้ามเนื้อขาก็จะแกว่งไปมาเป็นจังหวะ ถ้ากางเกงทั่วไปจะทำให้กล้ามเนื้ออักเสบจนอาจจะเกิดอันตรายได้
  3. สำหรับนักวิ่งที่เป็นผู้หญิง สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างก็คือ Bra การเลือกจำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เมื่อต้องวิ่งทางไกลถ้าเลือก Bra ผิดอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการเสียดสีจนเกิดแผล และอาจจะทำให้รูปทรงของหน้าอกเสียอีกด้วย ควรเลือก Sport Bra ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการออกกำลังกายโดยเฉพาะ จะทำให้รู้สึกวิ่งได้สบายมากยิ่งขึ้น
  4. กางเกงชั้นใน สำหรับนักวิ่งมืออาชีพทั้งชาย และหญิงถ้าเลือกกางเกงกระชับกล้ามเนื้อแล้วกางเกงชั้นในแทบจะไม่มีความจำเป็น แต่ถ้ารู้สึกโล่ง และไม่มั่นใจให้เลือกกางเกงชั้นใบแบบไร้ตะเข็บที่ถูกออกแบบมาสำหรับการวิ่งโดยเฉพาะ

สำหรับนักวิ่งมือใหม่ ที่กำลังรู้สึกไม่อยากวิ่ง ลองเปลี่ยนชุดวิ่งให้เหมาะสมก่อน แล้วลองออกวิ่งดู รับรองว่าการวิ่งจะสนุกมากกว่าที่คิด และจะทำให้ไม่อยากหยุดวิ่งอย่างแน่นอน

post

วิ่งถูกวิธีทำให้วิ่งได้นาน ไม่มีอาการบาดเจ็บ

อุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้วิ่งได้ไม่นานก็คือ ความเมื่อยล้า เหน็ดเหนื่อย และบาดเจ็บจากการวิ่งเป็นระยะเวลานาน ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้นักวิ่งทั้งหลายท้อ และไปไม่ถึงฝั่งฝันในการเป็นนักวิ่งมืออาชีพ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการวิ่งเป็นกีฬาที่ถ้าได้เล่นไปเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก ทั้งระบบการหายใจที่มีประสิทธิภาพ มีรูปร่างสมส่วน สวยงาม และที่สำคัญที่สุดก็คือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กับสุขภาพร่างกายที่ดีเพิ่มขึ้น ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปถ้านักวิ่งวิ่งได้อย่างถูกวิธี ดังต่อไปนี้

  1. จำไว้เสมอว่าก่อนการออกวิ่งทุกครั้งการ Warm ร่างกายเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนการวิ่ง อีกทั้งยังทำให้วิ่งได้เป็นระยะเวลายาวนานมากเพิ่มขึ้นด้วย การ Warm ร่ายการ เช่น การทำท่าทางที่ใช้สำหรับการ Warm ร่างกาย หรือ การเดินเร็วเป็นระยะเวลา 10 นาที ก่อนทำการวิ่ง เป็นต้น
  2. ความอดทนเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดสำหรับนักวิ่ง หลาย ๆ ครั้งนักวิ่งเลิกวิ่งเพราะรู้สึกว่าปวดเมื่อยตามร่างกายหลังจากที่ทำการวิ่งในระยะแรก ๆ ที่ฝึกวิ่ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะร่างกายยังไม่มีการปรับสภาพให้พร้อม และยังไม่คุ้น หรือเคยชินกับการออกกำลังกายแบบหนัก ๆ อย่างการวิ่ง นักวิ่งที่มีความรู้สึกแบบนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิ่งมือใหม่จำไว้ว่าต้องอดทน เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพก่อน ควรวิ่งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน และในแต่ละวันควรวิ่งไม่น้อยกว่า 15 นาที เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมในการปรับสภาพร่างกายจะทำให้วิ่งได้นานขึ้น และสนุกมากขึ้นด้วย
  3. ระบบการหายใจในการวิ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก นักวิ่งต้องฝึกระบบการหายใจให้ถูกวิธี เพราะการหายใจผิดวิธีจะทำให้รู้สึกจุกเสียดระหว่างที่ทำการวิ่ง ถ้าฝืนเป็นระยะเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ในขณะวิ่งต้องหายใจด้วยความผ่อนคลาย และสบาย พยายามหายใจด้วยท้อง การสูดลมหายใจเข้าให้ใช้จมูกเท่านั้น การปล่อยลมหายใจออกควรปล่อยออกทางจมูก และปากพร้อม ๆ กัน สังเกตการหายใจว่าการสูดลมหายใจต้องสูดจนท้องขยาย และบังคับการปล่อยลมหายใจด้วยการแขม่วท้อง
  4. การวิ่งไม่จำเป็นต้องวิ่งตลอดเส้นทาง เมื่อรู้สึกว่าเหนื่อยควรพักด้วยการเดินเร็ว หรือวิ่งให้ช้าลง ด้วยการก้าวเร็ว ๆ กว่าการเดินแบบปกติ แต่ไม่ควรหยุดวิ่งแล้วนั่งพักทันที เพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้

สำหรับนักวิ่งไม่ว่าจะนักวิ่งมือใหม่ หรือนักวิ่งมืออาชีพ การวิ่งที่ถูกวิธีถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด นอกจากความปลอดภัยที่จะได้รับแล้วยังทำให้การวิ่งสนุกสนาน และวิ่งได้เป็นระยะเวลายาวนานขึ้น เมื่อรู้หลักการวิ่งที่ถูกวิธีแล้ว ก็หาชุด และรองเท้าสำหรับวิ่ง แล้วออกวิ่งกันดีกว่า

post

4 สิ่งสำคัญที่นักวิ่งมือใหม่จำเป็นต้องรู้

กีฬาวิ่งกลายเป็นกีฬายอดฮิตของคนส่วนใหญ่ จากเหตุการณ์ที่สำคัญของประเทศไทย นั่นคือ มีนักร้องยอดนิยมคนหนึ่งออกมาวิ่งระยะไกลคือการวิ่งรอบประเทศไทยเพื่อหาทุนในการบริจาคให้กับโรงพยาบาล การกระทำดังกล่าวทำให้คนไทยออกมาวิ่งเพิ่มมากขึ้น กีฬาวิ่งกลายเป็นกีฬายอดนิยมในระยะเวลาอันรวดเร็ว คนออกมาวิ่งมีทุกเพศ ทุกวัย สำหรับนักวิ่งมืออาชีพคงไม่มีสิ่งใดที่จะต้องกังวลมากมายนัก เพราะมีความรู้ ความชำนาญ และการเตรียมความพร้อมในการวิ่งเป็นอย่างดีอยู่แล้ว สำหรับนักวิ่งมือใหม่ที่ต้องการจะออกมาวิ่ง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ก่อนที่จะออกวิ่งทุกครั้ง ควรให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. จำไว้ว่าการก่อนที่จะวิ่งทุกครั้งต้องมีการเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อน เริ่มตั้งแต่การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนที่จะทำการวิ่ง การ Warm ร่างกายก่อนการวิ่งทุกครั้ง ไม่ใช่ว่าจะวิ่งวันไหน เวลาใดก็ได้ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ควรโหมวิ่งติดกัน เป็นเวลานาน ๆ เพราะหลังจากการวิ่งทุกครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิ่งเป็นระยะทางไกล ๆ ร่างกายของผู้วิ่งมักจะเหนื่อยล้า ถ้าโหมวิ่งต่ออาจจะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ วิธีสังเกตที่ง่ายที่สุดก็คือ ในขณะที่วิ่งรู้สึกไม่สบายตัว หรือหายใจติดขัดหรือไม่ ถ้ามีอาการดังกล่าวขอแนะนำว่าควรกลับบ้านพักผ่อน
  2. การวิ่งเป็นกีฬาที่ใช้ร่ายกายค่อนข้างหนักมาก สำหรับนักวิ่งมือใหม่ไม่ควรโหมฝึกซ้อม หรือวิ่งมากจนเกินกำลังความสามารถของตนเอง จงระลึกไว้เสมอว่านักวิ่งมืออาชีพส่วนใหญ่ล้วนผ่านการฝึกฝนมาเป็นระยะเวลายาวนาน ดังนั้น ถ้าต้องการเป็นนักวิ่งมืออาชีพ ก็ต้องมีแผนการฝึกที่ดี และไม่เร่งรัดให้เก่งเหมือนนักวิ่งมืออาชีพในระยะเวลาอันรวดเร็วเกินไป อาจจะนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บได้ และถ้าโหมซ้อมเกินกำลังมากจนเกินไปอาจจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
  3. อย่ามองที่ความเร็วเป็นหลัก สำหรับนักวิ่งมือใหม่แล้วต้องคิดเสมอว่าการวิ่งเร็วไม่ใช่ว่าจะเป็นนักวิ่งมืออาชีพ การฝึกฝนด้านความเร็วเหมาะสำหรับนักวิ่งแข่งขันที่ต้องใช้ความเร็วเท่านั้น แต่สำหรับนักวิ่งมือใหม่แล้ว การวิ่งต้องมองที่การวิ่งได้เป็นระยะเวลานานมากขึ้น โดยที่ร่างกายไม่รู้สึกหักโหม และเหนื่อยล้าจนเกินไป การวิ่งในแต่ละวันอาจจะเร็วบ้าง ช้าบ้างแล้วแต่กับสภาพร่างกาย และสภาพอากาศ จึงไม่ควรเอามาตัดสินว่าการวิ่งเร็วคือวิ่งเก่ง
  4. การเพิ่มระยะทางในการวิ่งต้องค่อยเป็นค่อยไป สำหรับนักวิ่งมือใหม่ส่วนใหญ่มักต้องการวิ่งให้ได้ระยะทางไกล ๆ เพราะคิดว่าการวิ่งได้ระยะทางไกล ๆ แสดงว่าเป็นนักวิ่งที่เก่ง ในการฝึกจึงมักจะหักโหมโดยการเพิ่มระยะทางในการวิ่งอย่างรวดเร็ว ในความเป็นจริงแล้วต้องใช้เวลา เช่น อาจจะเริ่มต้นจาก 1 กิโลเมตร เมื่อรู้สึกว่าร่างกายวิ่ง 1 กิโลเมตรได้แบบสบาย ๆ แล้วก็ค่อย ๆ เพิ่มระยะทางเป็น 2 กิโลเมตร 3 กิโลเมตร และ 5 กิโลเมตรตามลำดับ เป็นต้น

นักวิ่งมือใหม่ที่ต้องการพัฒนาตนเองสู่นักวิ่งมืออาชีพ ต้องจำไว้เสมอว่า ความมีวินัย และความอดทนเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้การพัฒนาการวิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

post

วิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้นจากการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในการวิ่ง

ในยุคที่กระแสการดูแลสุขภาพกลายเป็นเรื่องสำคัญ การวิ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมด้านสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้คนสามารถเริ่มต้นได้อย่างง่ายดาย ใช้อุปกรณ์น้อยและสามารถทำได้ทุกที่

แต่การวิ่งก็เหมือนกับกิจกรรมอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้ ซึ่งมีทั้งที่เกี่ยวกับตัวผู้วิ่ง เช่น ท่าทางในการวิ่ง ลักษณะโครงสร้างของร่างกาย รูปร่างของขาและเท้า ตลอดจนสุขภาพส่วนตัว และในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการวิ่ง อาทิ ลักษณะเส้นทางที่วิ่ง ความลื่น ความลาดชัน ความร้อนของอากาศขณะวิ่ง

เพื่อให้นักวิ่งมีโอกาสบาดเจ็บจากการวิ่งน้อยลง มีวิธีปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บดังนี้

  1. เลือกรูปแบบการวิ่งให้เหมาะกับรูปร่าง น้ำหนัก สภาพร่างกาย ตลอดจนสภาพเส้นทางและระยะทางที่วิ่ง โดยในช่วงแรกของการวิ่งควรมีระยะทางที่ไม่มากเกินไป เพื่อปรับร่างกายให้เคยชิน ส่วนผู้ที่ต้องการวิ่งเพื่อลดน้ำหนักควรจะเริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
  2. ตรวจสอบการเดินและวิ่งของตนเองว่ามีลักษณะการลงน้ำหนักอย่างไร เพื่อเลือกใช้อุปกรณ์ เช่น รองเท้า สายรัดหรือเทปรัดให้ถูกต้อง เหมาะสม
  3. ตรวจเช็คร่างกายว่ามีอัตราการเต้นของหัวใจ ความแข็งแรงกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ รวมถึงปริมาณสัดส่วนไขมันในร่างกาย เพื่อประเมินโอกาสเสี่ยงบาดเจ็บหรือโรคภัยไข้เจ็บ
  4. ทำการอบอุ่นร่างกายก่อนทำการวิ่ง เป็นการเตรียมพร้อมระบบต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อทำการวิ่งก็เป็นไปอย่างราบรื่น เสี่ยงบาดเจ็บน้อยลง
  5. ทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้พร้อม กล้ามเนื้อที่ผ่านการยืดเหยียดเพียงพอจะมีความยืดหยุ่นดีขึ้น ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้ดี มีความคล่องแคล่วเพิ่มขึ้น ร่างกายเกิดความตื่นตัว
  6. ทำการคลายอุ่นร่างกายหลังทำการวิ่ง เพื่อให้กล้ามเนื้อคืนสู่สภาวะปกติ เป็นการลดความเมื่อยล้า ปรับสมดุลการหายใจและการไหลเวียนเลือด
  7. มีเวลาพักฟื้นร่างกายเพียงพอและทานอาหารที่ได้โภชนาการ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการพักฟื้นร่างกายหลังการวิ่ง ขึ้นอยู่กับขนาดของการออกกำลังกาย โดยส่วนใหญ่แล้วหลังการออกกำลังกายในหนึ่งชั่วโมง ร่างกายควรได้รับสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตสูง สารอาหารที่มีไขมันต่ำ นอกจากนี้ในระหว่างการวิ่งและหลังวิ่งก็ควรได้ดื่มน้ำอยู่เสมอ
  8. การเลือกเสื้อผ้าต้องเหมาะสมกับลักษณะการวิ่ง สภาพอากาศ ควรเลือกชุดที่ไม่รัดจนเกินไป รวมถึงชุดที่ไม่เกิดการเสียดสีกับร่างกาย ข้อพับต่างๆ ในระหว่างทำการวิ่ง

นักวิ่งหน้าใหม่ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าตนเองได้ทำการเตรียมพร้อมสำหรับการวิ่งเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงมักจะได้รับบาดเจ็บหลังจากที่วิ่งไปได้สักระยะเวลาหนึ่ง บางคนไม่เข้าใจและศึกษาให้รู้เกี่ยวกับการบาดเจ็บ ก็อาจจะฝืนจนอาการบาดเจ็บนั้นรุนแรง และอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งการบาดเจ็บเหล่านี้ทำให้นักวิ่งต้องมาเสียเวลาและเสียเงินเพื่อรักษาตัวเองอยู่เนืองๆ

การป้องกันตัวเองก่อนที่จะได้รับบาดเจ็บจากการวิ่ง เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่นักวิ่งต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการวิ่งในแต่ละครั้ง หากทำอย่างสม่ำเสมอนอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น ยังช่วยส่งเสริมให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงได้ตามต้องการเร็วขึ้นด้วย

post

รู้จักปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้นักวิ่งเกิดอาการบาดเจ็บได้

การวิ่งเป็นการออกกำลังกายอย่างง่ายๆ แต่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะนักวิ่งที่เพิ่งเริ่มวิ่งใหม่ๆ ที่ขาดการเตรียมตัวหรือศึกษาการเริ่มต้นวิ่งอย่างถูกต้อง

ทุกวันนี้การวิ่งถือเป็นกิจกรรมออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมสูง นอกเหนือไปจากการวิ่งเป็นประจำทุกวัน นักวิ่งทั้งหลายยังให้ความสนใจไปวิ่งตามงานที่จัดขึ้น ทั้งแบบวิ่งส่งเสริมสุขภาพและแบบวิ่งทำการแข่งขันซึ่งหมุนเวียนจัดกันตลอดทั้งปี การวิ่งกลายเป็นเทรนด์สำหรับผู้คนช่วยกระตุ้นให้เกิดนักวิ่งหน้าใหม่และนักวิ่งอยากเข้าสู่วงการวิ่งมากขึ้น

แต่การเริ่มต้นโดยขาดหลักการที่ถูกต้องของนักวิ่งหลายคน ทำให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับอาการบาดเจ็บ ซึ่งมีทั้งที่เป็นการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน และที่กลายเป็นการบาดเจ็บหนักๆ จนถึงขั้นต้องหยุดพักเพื่อทำการรักษาให้หายขาด ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้งานกล้ามเนื้อขาที่ผิดวิธี ท่วงท่าการวิ่งที่ผิดพลาด และการดูแลร่างกายก่อนและหลังทำการวิ่งที่ขาดประสิทธิภาพ

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการบาดเจ็บของนักวิ่งหรือผู้ออกกำลังกายด้วยการวิ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่

  1. ปัจจัยจากตัวนักวิ่งเอง ประกอบไปด้วย
    1. อายุของผู้วิ่ง ปกติแล้วอายุของคนเรามีความสัมพันธ์กับขนาดของมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ร่างกายยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ทำให้กล้ามเนื้อจะมีความทนทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่การฟื้นฟูของร่างกายรวดเร็วกว่า และเช่นเดียวกันในกลุ่มผู้สูงอายุ ร่างกายก็จะมีความเสื่อมถอยลงไป เมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อ ร่างกายจะฟื้นตัวช้ากว่า
    1. สมรรถภาพร่างกายของนักวิ่ง ระดับของสมรรถภาพร่างกายนั้นถือเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ความสามารถในการใช้งานกล้ามเนื้อของแต่ละคนจะมีผลต่อการบาดเจ็บ ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงกว่า กล้ามเนื้อก็จะสามารถรับมืออาการบาดเจ็บได้มากกว่า
    1. โครงสร้างของร่างกาย ถือเป็นปัจจัยที่นักวิ่งแต่ละคนมีแตกต่างกันไป บางคนตัวใหญ่ น้ำหนักมาก เวลาวิ่งก็จะได้รับแรงกระแทกมากกว่าคนตัวเล็กหรือผอมบาง เช่นเดียวกันกับลักษณะรูปทรงของขา กระดูก ฝ่าเท้า รูปร่างเท้า ซึ่งมีผลให้นักวิ่งแต่ละคนมีโอกาสบาดเจ็บแตกต่างกันไป
    1. โภชนาการและวิธีทานอาหาร นักวิ่งที่ดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะเรื่องของการดูแลโภชนาการให้สอดคล้องกับการสร้างกล้ามเนื้อและการซ่อมแซมส่วนที่ใช้งานไป จะมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมต่อการวิ่งมากกว่านักวิ่งที่ละเลยการดูแลเรื่องสารอาหาร
    1. สภาพจิตใจ การออกกำลังกายโดยการวิ่งช่วยทำให้จิตใจปลอดโปร่งได้ แต่นักวิ่งที่วิ่งด้วยสภาวะจิตใจที่ไม่ดีก็อาจจะส่งผลกระทบในทางอ้อมเช่น ความเครียดทำให้กล้ามเนื้อตึง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หายใจไม่เป็นจังหวะหรือทำให้ความดันอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสม
  2. ปัจจัยจากภายนอกที่ทำให้นักวิ่งบาดเจ็บได้
    1. ระยะเวลาในการวิ่ง การวิ่งที่กินเวลานานๆ โดยขาดการฝึกฝนหรือปรับสภาพร่างกายอย่างต่อเนื่องก่อนเกิดการใช้งานเกินกำลังที่ร่างกายและกล้ามเนื้อต่างๆ จะรับมือได้ มักทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้น
    1. ความหนักหน่วงในการวิ่ง ตามปกติแล้วนักวิ่งจะค่อยๆ ปรับระดับของระยะทางที่วิ่งขึ้น แต่ก็จะมีบางคนที่มองข้าม โดยไปลงทำการวิ่งในระยะทางที่ไกลกว่าที่วิ่งเป็นประจำ การทำแบบนี้ร่างกายจะถูกใช้งานเกินขีดจำกัด และมักเกิดการบาดเจ็บในช่วงท้ายๆ ซึ่งเป็นผลเสียอย่างมาก
    1. สิ่งแวดล้อมในการวิ่ง เนื่องจากการวิ่งในแต่ละครั้ง สภาพถนนและสภาพอากาศมีผลไม่น้อยต่อระดับความเสี่ยงที่จะทำให้ร่างกายบาดเจ็บ เป็นต้นว่าถนนที่มีความลื่น ไม่เรียบ หรือลาดเอียงสูง ทำให้นักวิ่งต้องใช้กล้ามเนื้อขามากกว่าปกติ นอกจากนี้ในการวิ่งที่ขนาดเส้นทางไม่สัมพันธ์กับปริมาณนักวิ่งก็อาจจะทำให้เกิดการชนหรือกระแทกกันจนบาดเจ็บได้

อาการบาดเจ็บเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จากการวิ่ง หากรู้ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่สามารถทำให้บาดเจ็บได้ นักวิ่งก็สามารถหลีกเลี่ยงหรือหาวิธีการป้องกันตัวเองไว้ล่วงหน้าได้

post

รวม 7 จุดบาดเจ็บสามัญที่นักวิ่งมือใหม่ต้องเผชิญ

แม้ว่าการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ถึงอย่างนั้นก็มีบ่อยครั้งที่นักวิ่งก็ต้องเผชิญหน้ากับอาการบาดเจ็บจนทำให้ความสุขจากการวิ่งลดลง บางครั้งอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงความเจ็บปวดเล็กน้อย แต่ก็ยังมีอีกหลายอาการที่เป็นอันตรายในระยะยาว

นักวิ่งจำนวนมากมองว่าการวิ่งเป็นเพียงกิจกรรมง่ายๆ ที่มีเพียงแค่การออกตัววิ่งไปก็เรียกว่าวิ่งได้แล้ว นั่นทำให้พวกเขาประมาทต่อโอกาสเกิดการบาดเจ็บจากการวิ่งได้ แม้ว่าการบาดเจ็บของนักวิ่งจะมีจุดที่แตกต่างกันไป แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้บาดเจ็บนั้นมาจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน กล่าวคือนักวิ่งจะมีช่วงเวลาที่ร่างกายลอยตัวจากระดับพื้น และตอนที่ขาสัมผัสพื้นจะเป็นตอนที่น้ำหนักถูกถ่ายจากร่างกายสู่ขาและลงสู่พื้นนั่นเอง ดังนั้นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของร่างกายส่วนใดของขาที่รับน้ำหนักดังที่กล่าวไป ซึ่งบริเวณต่างๆ ที่มีโอกาสเจ็บขึ้นมาจากการวิ่งทั่วไปมี 7 ตำแหน่งด้วยกันได้แก่

  1. ต้นขาด้านนอก เป็นจุดบาดเจ็บที่เรียกว่า ไอทีแบนด์ ตำแหน่งที่ปวดคือกล้ามเนื้อต้นขาซึ่งเกิดจากการตึงเพราะยืดเหยียดจากการก้าวยาวๆ หรือก้าวลงเนินอย่างรวดเร็ว อาการบาดเจ็บบริเวณนี้ในบางรายต้องพักฟื้นกันนาน
  2. ต้นขาด้านหลัง ส่วนนี้เรียกว่าแฮมสตริง โดยทุกการเคลื่อนไหวของขา กล้ามเนื้อส่วนนี้จะมีการทำงานตลอดเวลา อาการบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากการใช้งานหนักเกินไป หรือการหยุดกะทันหัน
  3. เอ็นร้อยหวาย เป็นหนึ่งในอาการเจ็บที่เกิดขึ้นได้ง่าย สามารถรับรู้ได้เมื่อปวดบริเวณข้อเท้าหรือแถวตาตุ่ม หลักๆ เกิดจากการแบกรับน้ำหนักที่เกิดจากการเดินหรือวิ่ง
  4. หน้าแข้ง เป็นบริเวณที่มักเกิดการบาดเจ็บในกลุ่มนักวิ่งที่ไม่เคยฝึกฝนหรือวิ่งเป็นประจำแล้วอยู่ๆ มาวิ่งระยะทางไกลๆ หรือวิ่งเป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อและกระดูก
  5. หัวเข่า เป็นจุดที่เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้บ่อยครั้ง โดยเป็นปัญหาทางกายภาพเกี่ยวกับการทำงานของชุดเข่าและลูกสะบ้า ส่วนใหญ่มักอธิบายด้วยความรู้สึกว่า “หัวเข่ามันกึ๊ก” ถือเป็นหนึ่งในอาการเจ็บที่นักวิ่งชอบฝืนไปต่อเพราะคิดว่าไม่เป็นอันตราย
  6. น่อง อาการเจ็บบริเวณน่องถือเป็นอาการสามัญของนักวิ่งทุกคน โดยเกิดจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณนี้ถูกใช้งานตลอดการวิ่งหรือเดิน มันเกี่ยวข้องกับเรื่องของการสร้างสมดุลในการวิ่งและการทรงตัว ซึ่งการเจ็บมีสาเหตุเนื่องมาจากเฉพาะตัวบุคคล เพราะแต่ละคนจะมีการเคลื่อนไหวและการรับน้ำหนักที่ต่างกันไป
  7. ส้นเท้า เป็นหนึ่งจุดบาดเจ็บที่เริ่มถูกพูดถึงกันอย่างหนาหูโดยเรียกว่า “อาการรองช้ำ” ซึ่งโดยมากเกิดจากการวิ่งแล้วลงน้ำหนักไปที่ส้นเท้าเป็นหลัก อาการบาดเจ็บตรงนี้จะแสดงออกด้วยการรู้สึกเจ็บแปลบเวลาเดินหรือลุกยืน

อาการบาดเจ็บเหล่านี้โดยส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมในการวิ่ง เช่น การไม่วอร์มร่างกายให้พร้อมก่อนการวิ่งและไม่คลายกล้ามเนื้อหลังวิ่งเสร็จ, การไม่ประมาณตนเองในการวิ่ง โดยจู่ๆ ก็ไปหักโหมวิ่งระยะทางไกลๆ หรือวิ่งในแบบที่ยากกว่าปกติอย่างการวิ่งเทรลหรือวิ่งบนทราย หรือวิ่งเป็นเวลานานหรือระยะทางไกลโดยขาดการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็เกี่ยวข้องกับลักษณะท่าทางในการวิ่ง เช่น การลงน้ำหนักของฝ่าเท้าที่ผิด การเลือกรองเท้าที่ออกแบบมาไม่รับกับรูปฝ่าเท้า

เมื่อเกิดบาดเจ็บแล้วนักวิ่งบางคนก็ใส่ใจในการค้นหาที่มาของอาการบาดเจ็บ ทำการรักษาและหาทางแก้ไข แต่มีนักวิ่งอีกจำนวนมากที่ละเลยการบาดเจ็บ โดยคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยและจะหายไปเองหากออกมาวิ่งอย่างสม่ำเสมอ นั่นคือการเปิดโอกาสให้การบาดเจ็บกลายเป็นปัญหาในระยะยาวได้ ดังนั้นเมื่อรู้สึกเจ็บจากการวิ่ง สิ่งสำคัญคือรีบหาคำตอบว่าทำไมบาดเจ็บและรีบรักษาทันทีจึงจะถูกต้อง

post

9 ข้อนักวิ่งหน้าใหม่ควรทำหากจะเริ่มวิ่ง

“ปีนี้ฉันจะเริ่มต้นวิ่งเป็นประจำ” หลายคนอาจจะบอกตัวเองอย่างนี้หรือตั้งเป้าหมายแบบนี้สำหรับปี 2019 ที่เพิ่งมาถึง และนี่คือ 9 คำแนะนำสำหรับนักวิ่งหน้าใหม่

1. หารองเท้าที่เหมาะสำหรับวิ่ง

ในการวิ่งนั้นนักวิ่งต้องมีรองเท้าที่ตอบสนองต่อลักษณะการวิ่ง ซึ่งพิจารณาควบคู่กันระหว่างลักษณะของรูปเท้าและลักษณะของการลงเท้า เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างในทั้งสองเรื่อง บางคนเท้าแบน บางคนอุ้งเท้าสูง บางคนปลายเท้ากว้าง เช่นกันกับที่บางคนเดินลงน้ำหนักที่ส้นเท้าและบางคนเดินลงน้ำหนักบนฝ่าเท้า

2. วอร์มรองเท้าใหม่

เมื่อได้รองเท้าใหม่มา นักวิ่งควรสวมใส่เป็นเวลานาน ๆ สัก 3-5 วันก่อนใช้งานในการวิ่งจริง การสวมใส่ในชีวิตประจำวันจะช่วยปรับสภาพเท้าให้เคยชินกับรองเท้าใหม่ และช่วยปรับรูปของรองเท้าให้พร้อมในการใช้งานวิ่งระยะเวลานาน ๆ

3. กำหนดตารางวิ่ง

ในเบื้องต้นไม่ควรฝืนทำการวิ่งหักโหมหรือมากเกินไป เนื่องจากร่างกายที่ยังปรับสภาพต่อการออกกำลังกายไม่ได้จะส่งผลเสีย ให้เริ่มต้นวิ่งเป็นระยะเวลาไม่นานนัก จากนั้นเพิ่มขึ้นราว 10% ในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป วิธีการนี้จะทำให้ร่ายกายรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า

4. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

การยืดร่างกายก่อนการวิ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ในส่วนนี้ท่ายืดที่ถูกต้องสำคัญกว่าจำนวนครั้งในการวอร์มร่างกายแต่ละเซต นักกีฬาส่วนใหญ่จะได้รับการแนะนำว่าไม่ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อท่าใดท่าหนึ่งค้างไว้นานเกิน 15 วินาทีเพราะมันกลายเป็นการสร้างความเครียดให้กล้ามเนื้อแทน ให้นึกว่ากล้ามเนื้อเหมือนยางยืดแช่แข็ง การทำให้ยางยืดตัวดีคือการค่อย ๆ นวดคลายไม่ใช่การออกแรงดึงหนัก ๆ

5. กำหนดแผนที่ในการวิ่ง

นักวิ่งหลายคนเลือกเส้นทางที่วิ่งเริ่มต้นจากที่บ้าน และหลายคนเริ่มต้นวิ่งที่สวนสาธารณะ พวกเขาจำเป็นต้องศึกษาเส้นทางเพื่อให้รู้ว่าเส้นทางที่ไปนั้นมีทางราบ ทางเนิน หรือผิวถนนเป็นอย่างไร ปริมาณรถหรือสัตว์เลี้ยงของเพื่อนบ้าน ซึ่งช่วยให้นักวิ่งรู้ตัวล่วงหน้าและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดโดยไม่รู้ตัว

6. เลือกความเร็วที่เหมาะสม

การวิ่งต้องเลือกระดับความเร็วในการวิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง ระดับที่เหมาะคือระดับที่สามารถวิ่งไปและคุยไปด้วยได้โดยไม่หอบหนัก ๆ หรือหายใจไม่ทัน ที่สำคัญการเลือกระดับความเร็วในการวิ่งสูงไปจะทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บ และมีผลให้หมดแรงจูงใจง่ายขึ้น

7. ค่อย ๆ ลดอัตราเต้นของหัวใจ

การวิ่งจนเหนื่อยมากไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง นักวิ่งต้องวิ่งในระดับที่พอหยุดวิ่งแล้วไม่รู้สึกว่าหัวใจเต้นแรงจนเกินไป การที่อัตราการเต้นของหัวใจสามารถลดระดับกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้เร็วช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตไม่ตกอยู่ในสภาพอันตราย และหัวใจไม่ทำงานหนักเกินไป

8. ยืดเหยียดคลายกล้ามเนื้อหลังวิ่งเสมอ

การคลายกล้ามเนื้อหลังวิ่งสำคัญพอ ๆ กับก่อนวิ่ง โดยหลักการทั่วไปแล้วอะไรที่เคยทำก่อนวิ่งก็สามารถทำได้หลังการวิ่ง

9. ดื่มน้ำให้มากพอ

จดจำว่าการสูญเสียน้ำมากเกินไประหว่างการวิ่งมีผลกระทบมากกว่าที่คิด ดังนั้นการดื่มน้ำที่มากพอจะช่วยรักษาสมดุลภายในร่างกายให้ไม่ลดต่ำมากจนเกิดอันตรายได้

post

6 สิ่งที่การวิ่งมีผลต่อร่างกายคุณมากกว่าการเดิน

ในการพุ่งตรงไปออกกำลังกายในสวนสาธารณะ คุณจะพบทั้งคนที่มาวิ่งออกกำลังกาย และคนที่มาเดินออกกำลังกาย เพราะทุกคนรู้ดีว่าการเดินและวิ่งต่างเป็นการออกกำลังกายที่เราเรียกว่า คาร์ดิโอ ทั้งคู่ ผลของการคาร์ดิโอนั้นทำให้ระบบไหลเวียนเลือดถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น ระบบเผาผลาญทำงานและกล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง

แต่ว่าที่จริงแล้วการวิ่งนั้นให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการเดินมาก ซึ่ง 6 ข้อดีต่อไปนี้อาจที่ทำให้คุณอยากลองเปลี่ยนการเดินเป็นการวิ่ง

1. เดินทำให้คุณลงน้ำหนักทั้งเท้ามากกว่าที่ส้นเท้า

ทั้งการเดินและการวิ่ง ร่างกายได้ใช้งานกล้ามเนื้อมัดใหญ่พอ ๆ กัน แต่ในขณะที่ออกกำลังกายด้วยการเดิน เราจะลงน้ำหนักบนฝ่าเท้าไปพร้อมกับที่ลงส้นเท้า ซึ่งมันทำให้เอ็นร้อยหวายต้องรับแรงตึงมากกว่าเวลาที่จ็อกกิ้งหรือสปรินต์ เพราะแรงถูกถ่ายทอดจากส้นเท้าไปยังปลายเท้าอย่างมีจังหวะ การเดินทำให้เอ็นร้อยหวายจึงมีโอกาสได้รับการบาดเจ็บมากกว่า

2. เดินทำให้ข้อต่อทำงานหนักกว่า

การวิ่งด้วยท่าทางที่ถูกต้องจะช่วยเสริมการส่งและรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการวิ่งที่เอียงตัวโน้มร่างกายไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนเท้าขณะที่วิ่งช่วยทำให้ร่างกายพุ่งออกไป แต่การเดินต้องใช้แรงเพื่อส่งตัวเองมากกว่า ข้อต่อก็จะทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างแรงดันหรือผลักตัวเอง

3. เดินทำให้เจ็บได้ง่ายกว่า

การวิ่งสร้างแรงปฏิกิริยากับพื้นมากกว่าการเดิน ถ้าวิ่งด้วยฟอร์มที่ถูกต้องกล้ามเนื้อ ข้อต่อและเส้นเอ็นจะได้รับพลังงานที่เกิดจากการกระทำระหว่างเท้ากับพื้นและเอาไปช่วยให้มีแรงส่งตัวมากขึ้น (แต่ถ้าวิ่งผิดท่าก็สามารถทำให้บาดเจ็บได้มากกว่า)

4. วิ่งสร้างมวลกระดูกได้มากกว่า

ในการวิ่งนั้นร่างกายจะมีการใช้งานส่วนต่าง ๆ มากกว่า ซึ่งส่งผลให้เกิดกระบวนการเสริมสร้างและซ่อมแซมร่างกายโดยอัตโนมัติ ซึ่งการวิ่งได้ช่วยทำให้มวลกระดูกมากขึ้น การไหลเวียนเลือดดี และทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่าง ๆ เพิ่มความแข็งแกร่งในตัวมันเองเพื่อปรับตัวให้เข้ากับการการใช้งานหนักที่เกิดจากการวิ่งมากกว่าเดิม

5. วิ่งทำให้ใช้พลังงานที่เยอะกว่า

การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่องของการวิ่งถูกวิจัยออกมาว่าใช้พลังงานมากกว่าการเดินตั้งแต่สองเท่าถึงสองเท่าครึ่ง นั่นหมายความว่าในเวลาที่เท่ากัน การวิ่งช่วยเผาผลาญพลังงานเยอะกว่า จริงอยู่ว่ามันก่อให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยมากกว่า แต่สำหรับการเผาผลาญแคลลอรี่และเปลี่ยนมันเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการ หรือนำไปสู่การเอาสารอาหารที่สะสมในร่ายกายมาใช้ได้มากกว่าก็ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นเร็วกว่า

6. วิ่งมีผลดีต่อฮอร์โมน

ในระยะยาว การวิ่งช่วยในเรื่องของคนที่บกพร่องด้านฮอร์โมนได้เป็นอย่างดี เพราะร่างกายจะปรับตัวเองให้สามารถควบคุมฮอร์โมนที่ผลิตออกมาโดยเฉพาะจากต่อมไทรอยด์ที่สร้างผลเสียต่อร่างกาย เพราะปกติต่อมไทรอยด์จะผลิตฮอร์โมนขึ้นจากภาวะเครียด ซึ่งมันแยกไม่ออกว่าวิ่งชิล ๆ หนึ่งชั่วโมงกับวิ่งหนีเสือหนึ่งชั่วโมงต่างกันอย่างไร ดังนั้นการวิ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายเรียนรู้ว่าแอ็คชั่นที่เกิดขึ้นเนื่องจากสิ่งใด และมันจะปรับความเข้าใจของต่อมไทรอยด์ได้ในระยะยาวนั่นเอง